หน้าแรกการเมือง'คมนาคม'แจงยิบ!!ปม'ชูวิทย์'พาดพิงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อนไม่มีใครแทรกแซงได้ พร้อมให้ตรวจสอบเต็มที่

‘คมนาคม’แจงยิบ!!ปม’ชูวิทย์’พาดพิงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อนไม่มีใครแทรกแซงได้ พร้อมให้ตรวจสอบเต็มที่

จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก และได้พาดพิงถึง รมว.คมนาคม ว่าไม่ใช้อำนาจตามความในมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพื่อยับยั้งการกระทำที่เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุน นั้น
.
ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลผ่านสื่อมวลชน ระบุว่า การที่กระทรวงคมนาคมจะยับยั้งการกระทำของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ ต้องเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือมติของ ครม. เท่านั้น ตั้งแต่เริ่มโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ว่าด้วยกระบวนการ และขั้นตอนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเป็นลำดับมาโดยตลอด
.
ซึ่งสถานะปัจจุบันของโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนตามมาตรา 36-39 ซึ่งกำหนดให้ รฟม. แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมา 1 คณะ ประกอบด้วย ผู้แทนของ รฟม. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนไว้เป็นลำดับ
.
โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ หรือมีอำนาจในการกำกับดูแลขั้นตอน และกระบวนการคัดเลือกเอกชนไว้ จึงถือว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกแล้วเสร็จ ในมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ กำหนดให้ รฟม. จัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนอีกครั้ง จึงจะสามารถเสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบได้
.
ด้วยเหตุดังกล่าวจากขั้นตอน และกระบวนการของกฎหมายที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ กระทรวงคมนาคมจะมีหน้าที่ และอำนาจเข้าไปพิจารณาได้เฉพาะขั้นตอนพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 42 เท่านั้น กระทรวงคมนาคมไม่สามารถดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนในขั้นตอนก่อนหน้านี้ได้เลย
.
ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ความเข้าใจของนายชูวิทย์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจของกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับการคัดเลือกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง
.
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า กระบวนการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นกระบวนการที่มีกฎหมายกำหนดกรอบอำนาจ สิทธิ หน้าที่ และขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องไว้โดยเฉพาะ ส่วนอำนาจในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 นั้น
.
กระทรวงคมนาคม มีเพียงอำนาจในการกำกับดูแลกิจการของ รฟม. ในกิจการทั่วไปเท่านั้น ไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะได้ จึงขอยืนยันว่าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทรวงคมนาคมปฏิบัติตามกรอบหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมายไว้อย่างครบถ้วนแล้ว โดยในขั้นตอนใดที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงคมนาคมไว้ กระทรวงคมนาคมก็ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพร้อมให้ทุกฝ่ายตรวจสอบการปฏิบัติงานของกระทรวงคมนาคมได้อย่างเต็มที่
.

ThePoint #Newsthepoint #ข่าวการเมือง #ศักดิ์สยามชิดชอบ #ชูวิทย์กมลวิศิษฏ์ #คมนาคม #รถไฟฟ้าสายสีส้ม #ประมูลรถไฟฟ้า

Must Read

Related News

- Advertisement -