ครบ2 ปีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ไอติม’ชี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด!! บี้รัฐเร่งยกเลิกพิสูจน์ความจริงใจ

0
238

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊โดยระบุว่า : ถึงเวลามองหาทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ในการควบคุมโรค เมื่อวานนับเป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อตั้งต้น อาจเป็นทางเลือกที่พอเข้าใจได้ ในการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถรับมือกับวิกฤตโควิดที่เข้ามาอย่างกะทันหัน
.
แต่การเลือกต่ออายุและคงไว้ถึงมาตรการที่ (ตามที่ชื่อบอกไว้) ควรถูกใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉิน มายาวนานถึง 2 ปี ชวนให้รัฐบาลสมควรถูกตั้งคำถามถึงทั้ง “ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาลในการปรับปรุงแก้ไข “เครื่องมือควบคุมโรค” อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วสำหรับสภาวะปกติ ให้มีความเหมาะสมในการนำมาใช้รับมือกับโควิด และ“ความจริงใจ” ของรัฐบาล ว่าไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็น“เครื่องมือทางการเมือง”ในการควบคุมคนเห็นต่าง
.
ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ในบรรดาประชาชนกว่า 1,445 คนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนมากเป็นผู้ที่ร่วมกิจกรรมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในฐานะคนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
.
ผมพยายามระมัดระวังเป็นพิเศษในการแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียไปโดยปริยาย แม้ผมพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการและเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แต่ในเชิงหลักกการ ผมอยากชวนให้ทุกคนร่วมกันวิเคราะห์ ถึงความเหมาะสมและปัญหาของการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าสู่ปีที่ 3
.
สิ่งสำคัญสุดที่ต้องย้ำชัด คือ การไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เท่ากับ การไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่เป็นการมีมุมมองที่ต่างออกไป ว่าเครื่องมือทางกฎหมายแบบใดที่มีความเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด เมื่อคำนึงถึงทั้งความปลอดภัยทางสาธารณสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลไกการตรวจสอบและกลไกการรับผิดรับชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐ
.
หากพิจารณาจากกรอบดังกล่าวนี้ การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดด้วย 3 เหตุผล

  1. พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ควรถูกใช้ต่อเมื่อฉุกเฉิน – ประเทศควรมีเครื่องมืออื่นสำหรับการควบคุมโรคในสภาวะปกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นโดยมีเจตนาจะใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น สำหรับวิกฤตโควิดที่ล่วงเลยมาถึง 2 ปี ประเทศควรมีมาตรการทางกฎหมายอื่นสำหรับการรับมือกับโรคระบาดโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป

1.1. เครื่องมือควบคุมโรคทางกฎหมายที่หยิบมาใช้ได้ทันที คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 – แม้กฎหมายนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้างในการรับมือกับโควิด (เช่น ให้อำนาจรัฐกักตัวเฉพาะคนที่พบว่าติดโรคแล้ว แต่ในสถานการณ์โควิด แม้คนที่ยังไม่ยืนยันว่าติดเชื้อ ก็ควรกักตัวเพื่อระมัดระวัง) แต่สิ่งที่น่าติดใจคือ หากรัฐเห็นข้อจำกัดดังกล่าว ก็ควรดำเนินการแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อนำมาใช้ แทนที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึงสองปี

1.2. หากรัฐบาลจะยังยืนยันถึงความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลควรทบทวนอำนาจหลายส่วนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้แก่ฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต (เช่น การเข้าไปควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชน) แต่ที่ผ่านมา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มิได้มีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว และ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ฝ่ายค้านเสนอ ก็ถูกถ่วงเวลาโดยการส่งให้ ครม. พิจารณาเพิ่มเติมอีก 60 วัน

  1. พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลดกลไกการตรวจสอบและกลไกการรับผิดรับชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐ
    การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการสร้างสภาวะทางกฎหมาย ที่ลดความรัดกุมของกลไกของประชาชนและตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

2.1. มาตรา 16 ตัดช่องทางที่ประชาชนจะใช้ตรวจสอบอำนาจของรัฐผ่านศาลปกครอง – หากรัฐออกข้อกำหนดที่ไม่เหมาะสม ประชาชนอาจต้องไปฟ้องศาลแพ่ง ซึ่งเป็นอะไรที่อาจเพิ่มภาระกับประชาชนในการพิสูจน์ความเสียหาย และผิดวิสัยทางกฎหมาย เพราะข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ ควรเป็นศาลปกครอง (ที่มีความเชี่ยวชาญกว่า) เข้ามาดูแล

2.2.มาตรา 17 มีการยกเว้นความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แก่เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งทำให้ขาดการตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็นในวิถีประชาธิปไตย

3.พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกตั้งคำถามถึงเจตนาแอบแฝงในการควบคุมความเห็นต่างทางการเมือง มากกว่าแค่ควบคุมโรค ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีลักษณะ 2 อย่าง ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีปัจจัยทางการเมืองแอบแฝง

3.1.การเลือกใช้ “ยาแรง” อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ถูกทบทวนหรือปรับระดับ ไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายหรือนโยบายภาพรวมของรัฐบาลในการรับมือกับโควิด แม้ภาครัฐเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการหลายอย่าง (เช่น เปิดรับนักท่องเที่ยว อนุญาตให้จัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว) จนถึงความพยายามล่าสุดที่จะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ในเชิงกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับยังคงขยายระยะเวลาบังคับใช้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยล่าสุดมีการขยายเป็นครั้งที่ 17 ไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

3.2. รัฐดูเหมือนไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ กิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง หรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง – การออกข้อกำหนดที่วางมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับการจัดการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร มากกว่าจังหวัดอื่นที่ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว” เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชวนให้ตั้งคำถาม ว่าเป็นมาตรการที่จงใจจำกัดกิจกรรมทางการเมือง ที่อาจเกิดขึ้นบ่อยกว่าในกรุงเทพมหานครหรือไม่
.
การตั้งคำถามต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยาวนานกว่า 2 ปี ไม่ได้เท่ากับการไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค แต่เป็นเพียงการเสนอแนะว่ารัฐอาจควรพัฒนาและเลือกใช้เครื่องมือทางกฎหมายเครื่องมืออื่น ที่คงประสิทธิภาพได้ดีเท่าเดิมในการควบคุมโรค แต่มีราคาที่น้อยกว่าในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีช่องทางที่มากกว่าในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
.
ThePOINT #ข่าวการเมือง #พรกฉุกเฉิน #พริษฐ์วัชรสินธุ #กลุ่มรีโซลูชั่น #รัฐบาล