เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันของพรรคการเมืองในการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับการสมรส หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สมรสเท่าเทียม”
มติในชั้นนี้ ได้คะแนนถล่มทลาย เกือบทุกพรรคการเมืองเห็นชอบกันถ้วนทั่ว
นี่คือกรณีตัวอย่าง
นี่คือจุดเริ่มต้น
นี่คือสัญญาณ สัญลักษณ์
ของการแสวงหาฉันทามติและสร้างแนวร่วมในการเมืองในระบบรัฐสภา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชนสูงสุด
ผมเฝ้าสังเกตการแสดงความเห็นของผู้สนับสนุนพรรคต่างๆ ในโลกออนไลน์ พบว่า ผู้สนับสนุนของบางพรรค บางคนบางฝ่าย ต่างโต้เถียงกันไปมาว่า นี่คือผลงานของพรรคตน
หากกล่าวให้จำเพาะเจาะจงชัดเจนลงไป ก็คือ ผู้สนับสนุนบางคนของพรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุนบางคนของพรรคเพื่อไทย
แน่นอน เราเข้าใจได้ว่า การแข่งขันทางการเมือง ก็ต้องมีการแสวงหาผลงานเพื่อนำไปรณรงค์กับประชาชน
แต่การแข่งขันเช่นว่านี้ ต้องไม่นำพาไปสู่สถานการณ์ที่ในอนาคตจะไม่สามารถแสวงหาความร่วมมือกันของสองพรรคนี้ในการตรากฎหมายได้เลย
เอาตัวอย่างรูปธรรม
อีกไม่กี่เดือน ร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็คงผ่านวาระสามในชั้นสภาผู้แทนราษฎร และไปสู่วุฒิสภา
เราคาดเดาไม่ออกเลยว่า ในชั้นวุฒิสภาจะมีมติอย่างไร เพราะมีสมาชิกที่หัวเก่าจำนวนมาก
ดังนั้น ในชั้นสภาผู้แทนราษฏรต้องตรึงกำลังให้แน่น หากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจับมือกันแน่นในการตรากฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่มีทางที่กฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่าน ใครก็ขวางไม่ได้แน่นอน
ในอนาคต ก็อาจมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอีก ซึ่งต้องอาศัยแรงของทั้งสองพรรค
หรือตัวอย่างจากสภาสมัยที่แล้ว เพื่อนสมาชิกก็เคยช่วยกันแสวงหาความร่วมมือจนสำเร็จมาแล้ว
สมัยเมื่อผมยังเป็นผู้แทนราษฎร วันสุดท้ายของการเป็นประธาน กมธ กฎหมายฯ ผมเร่งเอาวาระเรื่องร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและอุ้มหาย โดยขอให้ ส.ส.ทุกพรรคช่วยกันผลักดัน แล้ววันรุ่งขึ้น ผมก็พ้นจากตำแหน่งและถูกแบน 10 ปี
เพื่อน สส. ของทุกพรรคนำเรื่องนี้ไปผลักดันต่อ เสนอร่างของแต่ละพรรคเข้าสภา และในท้ายที่สุด เราก็มีกฎหมายนี้ประกาศใช้
ผมเชื่อว่า เราจะมีกฎหมายดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่จะผ่านความร่วมมือกันของทุกพรรคในสภาได้ อีกแน่นอน
หากทำสำเร็จ ไม่เพียงประชาชนได้ประโยชน์
ภาพลักษณ์ของนักการเมืองในสภาก็ดีขึ้น
ต่อไป เรื่องสำคัญๆ ใด เราก็สามารถหาฉันทามติจากนักการเมืองจากหลากหลายพรรค หลากหลายขั้วได้ ไม่ต้องตก “กับดัก” พวกเผด็จการ เนติบริกร นักปฏิรูปของคณะรัฐประหาร ที่เฝ้ารอฉกฉวยจังหวะ ยึดอำนาจ แล้วอ้างว่าต้องมีอำนาจเด็ดขาด ต้องไม่มีนักการเมืองจากการเลือกตั้ง จึงจะทำเรื่องใหญ่ เรื่องยาก ได้สำเร็จ
ในส่วนของผลงานความดีความชอบจากการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น
ผมเห็นว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม มิควรเป็น ผลงานของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เพียงพรรคเดียว เพราะ “เกือบ” ทุกพรรคการเมืองร่วมกันผลักดัน และรวมถึงภาคประชาชนที่รณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ต้องให้เครดิตยอมรับนับถือ ชื่นชม ทุกฝ่าย ที่ช่วยกันรณรงค์และผลักดันในแดนของตนเอง จนสำเร็จ
กล่าวสำหรับสองพรรคใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันอยู่นั้น
พรรคอนาคตใหม่/พรรคก้าวไกล ก็ตั้งใจผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ตั้งพรรค นำเรื่องนี้เป็นนโยบาย “ชูธง” ตั้งแต่แรกเริ่ม ผลักดันให้มี สส. ตัวแทนประเด็นเหล่านี้ และผลักดันร่าง พ.ร.บ. ของพรรค เข้าไปแต่แรก พร้อมกับรณรงค์กับสังคม จนกลายเป็นกระแสวงกว้าง
พรรคเพื่อไทย ก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันจนสำเร็จ ในฐานะเข้าไปเป็นแกนนำรัฐบาล ดังที่เราทราบกันดีว่า หลายปีมานี้ คณะรัฐมนตรีชุดก่อนๆและระบบราชการ “ยอม” ให้แค่ในระดับ “คู่ชีวิต” ไม่ยอมให้ “สมรส” หากพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาล และไม่ทุบโต๊ะยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีต้องเสนอร่าง พรบ สมรสเท่าเทียม เข้าสภาโดยเร็ว เราก็จะไม่เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้
นี่คือ จุดเริ่มต้นของการแสวงหาจุดร่วมของสองพรรคใหญ่ในสภา เพื่อตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ไม่มีใครดี ไม่มีใครเด่นกว่าใคร
ไม่ใช่แข่งขันว่าพรรคไหนชนะในเรื่องใด
เพราะ ในท้ายที่สุด ประชาชนชนะ
ที่มา https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/977195427099849?ref=embed_post