ชื่นมื่น!!นายกฯ หารือ’ผู้นำอาเซียน-โจ ไบเดน’ร่วมเสริมสร้างภูมิภาคที่สงบสุข พร้อมหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบาง

0
289

วานนี้ (13 พฤษภาคม 2565) เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
.
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อคืนนี้ พร้อมกล่าวว่าการที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ นับเป็นโอกาสในความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานถึง 45 ปี จึงควรใช้โอกาสนี้เฉลิมฉลองวาระพิเศษและร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง มีปัจจัยความท้าทายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
.
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ควรร่วมกัน “มองไปข้างหน้า” และเดินหน้าไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐฯ มุ่งสร้าง “ภูมิทัศน์ใหม่” ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้
.
หนึ่ง “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่น ๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
.
นายกรัฐมนตรี หวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข
.
สอง “ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้
.
นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ เร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย
.
สาม “ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี
.
สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่ COP26 ว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ซึ่งหากอาเซียนกับสหรัฐฯ เพิ่มพูนความร่วมมือในการลงทุน และแบ่งปันเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และพลังงานสะอาด ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น
.
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐฯ จะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้
.
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค. 2565
.
อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน สหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพในภูมิภาค และ การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยมีแนวทางการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

  1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ
  2. การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน
  3. การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล
  4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
  5. การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค
  6. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
  7. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  8. ความร่วมมือในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
    .

ThePOINT #ข่าวการเมือง #นายกฯ #ประชุมอาเซียนสหรัฐ #ผู้นำอาเซียน #โจไบเดน #สหรัฐ