นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้ช่วยผู้ว่าการ) ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมทดสอบ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อการใช้งานจริง (Pilot Test) สำหรับรายย่อย (Retail CBDC) ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยคาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 2 ปี 2565 แต่จะทดลองใช้ในวงจำกัดภายใน ธปท. ก่อนที่จะขยายไปยังประชาชนทั่วไป ร้านค้าขนาดใหญ่และขยาดย่อมมีธุรกรรมการใช้จ่ายของประชาชนรายย่อยที่สูง
.
โดยธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในอนาคต
.
ทั้งนี้ ธปท. ได้เปิดเผยการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน “The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test)
.
โดยผลการศึกษาผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทยชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยจะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย (2) อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมาก ๆ
.
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน
.
ขณะที่จากผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้นเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย
.
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจบางส่วนเสนอเพิ่มเติมให้ ธปท. มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานของ Retail CBDC แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
.
ด้านแผนการทดสอบ Retail CBDC เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot test) จากผลการศึกษาและความเห็นที่ได้รับข้างต้น ธปท. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและทดสอบ การใช้งาน Retail CBDC ออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้
.
1) การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565
.
2) การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่าง ๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
.
ธปท. จะประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จากการทดสอบการใช้งานข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่า Retail CBDC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต
.
อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ซึ่งเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์” โดยในปัจจุบันคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC ในภาคธุรกิจ และเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับผู้ใช้งานรายย่อยหรือภาคประชาชน (Retail CBDC) ต่อไป
.
ลงชื่อเข้าใช้
ยินดีต้อนรับ! เข้าสู่ระบบบัญชีของคุณ
ลืมรหัสผ่านหรือไม่? ขอความช่วยเหลือ
กู้คืนรหัสผ่าน
กู้คืนรหัสผ่านของคุณ
รหัสผ่านจะถูกอีเมล์ถึงคุณ