หน้าแรกการเมืองนายกฯ ขอทุกส่วนแก้หนี้นอกระบบให้จบในรัฐบาลนี้ ย้ำต้องการกวาดล้างทั้งระบบ และไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

นายกฯ ขอทุกส่วนแก้หนี้นอกระบบให้จบในรัฐบาลนี้ ย้ำต้องการกวาดล้างทั้งระบบ และไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงการณ์จัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีร่วมแถลง

โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ตนได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ขอพูดถึงหนี้ในระบบ ซึ่งก็มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัวจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน

รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบและการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ ตนขอชี้แจงก่อนอย่างนึง ตนไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย โลกนี้มีหนี้ที่ดีอยู่ ซึ่งก็คือหนี้ที่นำไปจับจ่ายใช้สอยหรือประกอบธุรกิจโดยไม่เกินความสามารถ เป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ เพิ่มจำนวนเงินในระบบทั้งประเทศ ดังนั้น การมีลูกหนี้ที่ดี จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่าสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้กลไกเหล่านี้มีข้อติดขัดหลายอย่างจนปัญหาสั่งสมจนใหญ่เกินกว่าจะแก้ได้โดยปราศจากภาครัฐ วันนี้พวกเราไม่สามารถจะปล่อยให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหานี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะขอยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ทุกคน ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง

ตนขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้าง เป็นระยะเวลานาน ทุกกลุ่มที่กล่าวไปทั้งหมด มีข้อสังเกตที่เหมือนกันอย่างนึงพวกเขาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานานก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหาพวกเขานั้นต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม โดยแนวทางในแต่ละกลุ่ม มีดังนี้ กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มนี้โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนนึง บางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้ กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว สำหรับลูกหนี้รายย่อยซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควรและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวกและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งสามแนวทางนี้จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมด ตนขอยกตัวอย่างลูกหนี้ในกลุ่มนี้ คือ คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันมีครูกว่า 900,000 ราย ที่ประสบปัญหาหนี้สิน บางรายมีภาระหนี้สินหนักจนกระทบการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งตนขอชื่นชมธนาคารออมสินที่ได้มีโครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ โอนหนี้มารวมไว้ที่สหกรณ์ แล้วให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษให้กับลูกหนี้ ถือว่าช่วยลดภาระให้ลูกหนี้เหล่านี้มีพื้นที่หายใจได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากหน่วยงานอื่น ๆ พบว่า ข้าราชการในสังกัดกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ขอให้ปรึกษาหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อขอสินเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ก็ได้ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็มีระเบียบกำหนดให้ครูต้องมีเงินเดือนเหลือจ่ายอย่างน้อยร้อยละ 30 หลังจากตัดจ่ายหนี้ไปแล้ว แต่ตนขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กำชับและผลักดันให้ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างทั่วถึง และขอให้กระทรวงอื่นๆ มีระเบียบหลักเกณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้ข้าราชการในสังกัดของตน

ในส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสียก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น และล่าสุดได้มีการปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการให้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยผู้มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ผ่าน เว็บ เด็ท คลีนิค บาย แซม ดอทคอม(debtclinicbysam.com)

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ยหรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ ตัวอย่างของลูกหนี้กลุ่มนี้ คือ ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย สำหรับลูกหนี้ กยศ. ซึ่งบางส่วนไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษา กยศ. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ กยศ. ได้กว่า 2.3 ล้านราย ในส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น ในกรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และกรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลดหากลูกหนี้สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ สคบ. อยู่ระหว่างการปรับแนวทางกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ลดความเสี่ยงเชิงระบบและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมต่อไป

และลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ตนคาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย ครั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายกลุ่มด้วยกัน มีทั้งมาตรการ ที่ ครม. ได้เห็นชอบไปแล้ว เช่น การพักหนี้เกษตร มาตรการที่สามารถดำเนินการขยายผลได้ทันที เช่น เรื่องหนี้ครู หนี้ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซต์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ซึ่งตนก็หวังว่าจะมีการติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยต่อไป อย่าให้หายเงียบ ตามแนวทางที่ตนได้มอบไว้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ เช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และกำหนดให้การผ่อนชำระสินเชื่อ ต้องให้ผู้กู้ยืมมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ การให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากข้อมูลอื่นนอกเหนือจากประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำ หรือค่าไฟของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น การผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รายงานข้อมูลเครดิตไปยัง NCB เพื่อให้ผู้ให้สินเชื่อทุกรายสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และการจัดการบุริมสิทธิในการตัดเงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อชำระหนี้กับผู้ให้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี และท้ายที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชน หรือจัดให้มีระบบการเงินชุมชนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยต่อไป สำหรับนักศึกษาที่กู้ กยศ. ก็ต้องผ่านการอบรมการบริหารจัดการหนี้ บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ต้องผ่านการอบรมการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งเพิ่มตัวช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน เช่น สร้างคนให้คำแนะนำการแก้หนี้ หรือคนไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้อง แก่ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมวินัยการออม เช่น บริการ ออมเพลิน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้ประชาชนสามารถสะสมเงินออมแบบอัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้จ่ายชำระค่าสินค้าเพื่อลด การเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมที่เพียงพอหลังเกษียณอายุ

“รัฐบาลห่วงใยลูกหนี้ทุกกลุ่ม และได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว การดำเนินมาตรการให้สำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ และหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ผมจึงมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มาร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ ร่วมกันสำรวจและซ่อมแซมกลไกทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเราทำงาน เติบโต และขยายตัวต่อไปได้” นายเศรษฐา กล่าว

Thepoint #Newsthepoint

เศรษฐา #รัฐบาลเศรษฐา #หนี้นอกระบบ

Must Read

Related News

- Advertisement -