เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีแถลงผลการสอบกรณีความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ในกระบวนยุติธรรม ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจกับสภาพที่เกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน และได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นอีกหลายชุดกว่า 50 คน ได้สอบสวนคู่กรณีทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ โดยใช้เวลา 4 เดือน ซึ่งสามารถสรุปได้ 5 ข้อดังนี้
1.ผลการตรวจสอบพบว่ามีการขัดแย้งและไม่มีความเรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ระดับกลาง ระดับเล็ก ในทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่รู้ว่าเกิดจากเหตุเดียวกัน หรือคนละเหตุ และประจวบด้วยกันก็ตาม จนเกิดเป็นคดีความต่างๆ ทั้งร้องเรียน และฟ้องร้อง
2.เรื่องราวที่เกิดขึ้น จะเกี่ยวพันกับบุคคล 2 ฝ่าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และแต่ละคนมีทีมงานใต้บังคับบัญชา ทำให้ทีมงานมีความขัดแย้งไปด้วย คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ เช่น คดี 140 ล้าน คดีกำนันนก คดีมินมีพนันออนไลน์ พนันออนไลน์ Bnk และแยกย่อยไปอีกประมาณ 10 คดี ซึ่งกระจายอยู่ตามสถานีตำรวจต่าง และศาล ทั้งนี้ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด บางอย่างเกิดขึ้นกว่า 10 ปีมาแล้ว จึงทำให้เป็นคดีขึ้นมา
- จึงต้องดำเนินการส่งเรื่องให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กระบวนการยุติธรรม
4.บางเรื่องเกี่ยวพันนอกกระบวนการยุติธรรม ป.ป.ช. , ปปง. , ดีเอสไอ รับไปดำเนินการ ซึ่งไม่มีคดีที่ตกค้างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วตั้งแต่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ 20 มี.ค.ทั้งสองได้มีคำสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ และเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ได้ส่งกลับแค่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปฏิบัติในหน้าที่เดิม
แต่วันเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการอีกชุดขึ้นเพื่อสอนสวนทางวินัย และตามมาด้วยคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังไม่ได้ส่งกลับไปก่อนหน้านี้ จึงสมควรส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่เดิม เนื่องจากสอบสวนเสร็จแล้ว ไม่มีข้อที่จะต้องตรวจสอบอีก
ส่วนคดีอื่นๆ ก็ให้ว่าไปตามกระบวนการ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอีกก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงาน
จากข้อมูลไม่ได้ชี้ว่าใครผิดและใครถูก แต่จากรายงานมีความซับซ้อนในการตรวจสอบ
ทั้งนี้การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจะต้องกระทำโดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะจากพนักงานสอบสวน แต่เรื่องนี้ ณ วันที่ 18 เม.ย.2567 มีการออกคำสั่ง 3 คำสั่งติดต่อกัน คือ คำสั่งเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย และคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที ซึ่งมีการส่งเรื่องนี้ไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 10 ต่อ 0 ว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่กระทบสิทธิและหน้าที่ เพราะเงินเดือนไม่ได้ เงินประจำตำแหน่งไม่ได้ รถประจำตำแหน่งไม่ได้ รวมทั้งสิทธิพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง แสดงว่าเป็นการกระทำให้เสียสิทธิประโยชน์ จึงต้องทำโดยคำแนะนำหรือเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวน แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่ผ่านคณะกรรมการฯ ดังกล่าว กฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม สมควรจัดการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเป็นอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการ
สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างนำความกราบบังคมทูล ให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อยู่ระหว่างพิจารณากรณีดังกล่าว หลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นคำร้องไว้
นายวิษณุ กล่าวว่า กรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ใช้คำว่า ส่งกลับไปไม่ได้ เพราะกลับไป ตร.ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.แล้ว ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ใช้คำว่า ส่งกลับไปได้ ส่วนจะไปวันใดแล้วแต่คำสั่งนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ในอนาคตจะต้องมีการแก้ไขความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชื่อว่าสถานการณ์จะเบาบางลง เพราะผ่านมา 4 เดือน ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้พบปะพูดจากันมากพอสมควร คณะกรรมการฯ ก็เข้าไปไกล่เกลี่ยบางเรื่องให้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การซูเอี้ย หรือ มวยล้มต้มคนดู เพราะคดีทั้งหมดมีปักหลังกันทุกคน แต่ระหว่างนี้ให้กลับไปทำงาน
“ไม่มีอะไรเป็นการฟอกขาว แต่ขอให้ท่านกลับไปทำหน้าที่ของท่านในส่วนนี้ อย่ามีอะไรวอกแวก ส่วนคดีที่ ป.ป.ช.ก็ไปสู้คดีกันเอง”