เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(มค)/98 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง ผบช.น. (ผู้รับปฏิบัติ) และ ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงานมั่นคง (ผู้รับทราบ) ใจความว่า ด้วยได้ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเสนอเรื่องที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี กับพวก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร บีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน โดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวนเสด็จ
ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นรถยนต์คันดังกล่าวไว้ จนได้มีการโต้เถียง แม้ต่อมามีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังปรากฏข่าวว่ากลุ่มบุคคลของ น.ส.ตะวัน มีการนัดหมายทำกิจกรรมที่สกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เพื่อทำโพลถามความคิดเห็นในหัวข้อ “คุณคิดว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่” อีกด้วย นั้น
พฤติกรรมดังกล่าว อาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข เป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบของสังคม จึงให้ บช.น. ดำเนินการ ดังนี้
1.กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิด และหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วยหรือไม่
2.กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคม เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก