นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ”จากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” โดยระบุบางช่วงบางตอนว่า วันนี้ เมื่อ 74 ปีที่แล้ว ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์, กาจ กาจสงคราม, ก้าน จำนงภูมิเวท และทหารทั้งนอกและในราชการอีกหลายคน ได้ชักชวนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและทันสมัยมากในยุคนั้น
.
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือ รัฐประหารที่มีความริเริ่มหรือ original อยู่หลายอย่าง คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้อง “ฉีก” รัฐธรรมนูญ คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้องอาศัยบารมีความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ นำรัฐธรรมนูญใหม่ที่พวกตนทำขึ้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม
คือ จุดเริ่มต้นของการเขียนรัฐธรรมนูญฟื้นฟูพระราชอำนาจ
.
ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายต่างๆ ในธรรมเนียมปฏิบัติ จนทำให้ลักษณะของระบอบการปกครองเปลี่ยนรูปไป ไม่ใช่ระบอบ constitutional monarchy ตามแบบที่คณะราษฎรสร้างไว้ตั้งแต่ 2475 ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ด้วย
.
67 ปีต่อมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้ง พวกเขาตั้งตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ออกรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ คำสั่งต่างๆจำนวนมาก เพื่อประกันให้พวกเขาได้ครองอำนาจและสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้เป็นเพียงการใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐประหารที่เข้ามาประกันในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยด้วย
.
นับตั้งแต่ประยุทธ์ครองอำนาจ เขาและพวกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมาย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองมีแนวโน้มหันเหออกจากระบอบ constitutional monarchy กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้น
.
แต่ในยุคปัจจุบันนี้ การเมืองได้พัฒนาไปไกลจนเป็น “การเมืองแบบมวลชน” มากกว่าเดิม แต่ละฝักฝ่ายมีมวลชนสนับสนุน และมวลชนก็เลือกที่จะสนับสนุนฝักฝ่ายต่างๆแบบมีพลวัต มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนอย่างสุดจิตสุดใจ มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนเฉพาะกาลเฉพาะกิจตามยุทธวิธีการต่อสู้ และพร้อมจะยุติการสนับสนุนหากมีกลุ่มการเมืองฝ่ายใหม่ๆขึ้นมา มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆเพื่อใช้เป็น “พาหนะ” ในการทำตามความคิดอุดมการณ์ของตน
.
เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันมีความคิดจิตสำนึกในทางประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยตามแบบระบอบ constitutional monarchy พลังและขบวนของพวกเขานี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยันและต่อต้านไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงแบบถาวร ในขณะที่ยุค 2490-2500 ไม่มีพลังเหล่านี้
.
ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรระหว่าง…“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” ที่มีกองทัพ ระบบราชการ และทุนผูกขาด ค้ำจุน หรือ“ระบอบประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนชาวสยามผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ผู้เป็น “เจ้าของ” ประเทศนี้ แผ่นดินนี้ร่วมกัน คือ ผู้ตัดสิน ทำให้ความพยายามครั้งนี้มิใช่ความพยายามครั้งใหม่ มิใช่ความสำเร็จอีกครั้ง แต่เป็นความพยายามครั้งสุดท้าย และเป็นความล้มเหลวไปตลอดกาล
.
- Advertisement -