หน้าแรกการเมืองพปชร. ฟาด MOU44 เป็นโมฆะ! จี้รัฐบาลมีพิรุธ ท้าเปิดเวที 3-3 ชี้แจง

พปชร. ฟาด MOU44 เป็นโมฆะ! จี้รัฐบาลมีพิรุธ ท้าเปิดเวที 3-3 ชี้แจง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พร้อมด้วย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ ร่วมแถลงข่าวกรณีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU) ปี 2544 ภาคต่อ EP 3

นายธีระชัยกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะส่งไปยังรัฐบาลในวันนี้ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคชุดใหม่ เพื่อเจรจากับกัมพูชาในกรอบเอ็มโอยู 2544 ซึ่งการแต่งตั้งเช่นนี้อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยตนได้ให้ข้อมูลไว้สองอย่างคือ หนึ่ง เป็นพยานเอกสารหลักฐานราชการ ซึ่งมีบทความที่เขียนโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ที่ลงนามเอ็มโอยู

นายธีระชัยกล่าวว่า พยานหลักฐานที่สองคือ แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน โดยมีข้อความสำคัญที่ปรากฏคือ ข้อความบรรยายว่าทั้งสองท่านไปทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีลงนามเอ็มโอยู 2544 รวมถึงมีข้อความที่ระบุชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายให้การรับรองเอ็มโอยู 2544 ฉะนั้น จึงเป็นการยืนยันว่าเอ็มโอยู 2544 มีสถานะเป็นสนธิสัญญา

นายธีระชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 24 บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาต่างๆ กับนานาประเทศ ฉะนั้น การที่เอ็มโอยู 2544 ไม่ได้มีการกราบบังทูลต่อพระมหากษัตริย์ก็ไม่ตรงกับข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 และหนังสือใดที่มีการเปลี่ยนแปลงบทอำนาจแห่งรัฐต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งในเอ็มโอยู 2544 มีแผนที่แนบด้วย ซึ่งแผนที่แนบนั้นมีการกำหนดสิ่งที่เราเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วม รวมถึงมีการกำหนดไว้ด้วยว่าพื้นที่พัฒนานั้น มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องของปิโตรเลียมในพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ได้กำหนดให้ไปขยับเส้นอานาเขตพื้นที่สีเขียว ฉะนั้น เอ็มโอยู 2544 จึงเป็นเอ็มโอยูที่ทั้งสองประเทศยอมรับพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันทางปิโตรเลียม

นายธีระชัยกล่าวอีกว่า การยอมรับเช่นนั้นทำให้เกิดผลคือทำให้พื้นที่สีเขียวตรงนั้นแหว่งออกไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้จึงควรต้องมีการนำเสนอต่อรัฐสภา แต่ในเมื่อเอ็มโอยู 2544 ไม่ได้มีการกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์และนำเสนอต่อรัฐสภา ตนจึงมีความเห็นว่าเป็นส่วนที่สัญญาซึ่งเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น รวมถึงประชาชนก็เกิดความสงสัย เพราะมีข้อพิรุธสำคัญว่าทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณีไทย-มาเลเซีย ที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่เอ็มโอยูกลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้น อันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน

“ประชาชนกังวลว่าเอ็มโอยูที่ไม่เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น นอกจากนี้ น่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว” นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัยกล่วต่อว่า การเจรจาความเมืองต้องใช้ทางราชการเป็นหลัก ไม่ใช่เอาคนที่มีผลประโยชน์ เป็นภาคเอกชนเข้าไปร่วม ฉะนั้น ย้ำว่าเรื่องนี้ประชาชนมีข้อกังวลและสงสัยมากว่าทำไมอยู่ดีๆ ไปทำเอ็มโอยู แล้วเอาแผนที่ไปใส่ด้วย ถือเป็นข้อพิรุธ และทำให้กัมพูชาดีใจเพราะได้ประโยชน์ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงในการเสียดินแดน นอกจากนี้ ยังไปยอมรับเส้น ซึ่งมาละเมิดอธิปไตยของเกาะกูด ทำให้ประชาชนกังวลว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่

“ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล มีหน้าที่ต้องทำทุกอย่างให้กระจ่างต่อประชาชน ซึ่งวิธีที่สุดคือการจัดเวที รัฐบาลควรจะส่งคนที่ได้รับอำนาจเต็มในการชี้แจงเรื่องนี้มาพูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐในเวทีสาธารณะ ทั้งผม ม.ล.กรกสิวัฒน์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไม่ได้มีการพูดคุยกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร ที่จะไปยื่นหนังสือเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ธันวาคม” นายธีระชัยกล่าว

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า การที่นายสุรเกียรติ์บรรยายเรื่องเอ็มโอยู 2544 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน โดยนายสุรเกียรติ์ระบุว่าเนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า ขณะที่นายสุรเกียรติ์เซ็นเอ็มโอยู 2544 กับกัมพูชานั้น น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้อง ทั้งเรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฏตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 ข้อ 15 ที่บัญญัติว่ากรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวต่อว่า กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ ไม่ใช่แบบที่นายสุรเกียรติ์อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่าทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200ไมล์ ตามอำเภอใจแบบที่กัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อน ตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูด ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายสุรเกียรติ์ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างไทยกับมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอน ดังนี้ 1.คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน 2.กรอบการเจรจาคือกฎหมายทะเลสากล 3.ทำเอ็มโอยูเพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา และ 4.ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา ซึ่งทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น ส่วนเอ็มโอยูจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ ซึ่งการเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม

“กรณีไทย-กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่าเกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ดคือเกิดเอ็มโอยูขึ้นก่อน แล้วอ้างว่าเอ็มโอยูเป็นกรอบการเจรจาและอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของเอ็มโอยูว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่าขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การระบุว่าเอ็มโอยูจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว ข้อนี้ถือว่าเสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้น นำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วมก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน

“ที่ผ่านมาเราพูดมาเยอะแล้ว จึงอยากให้มีการจัดเวทีให้ทุกฝ่ายส่งคนที่สามารถพูดเรื่องนี้ได้มาคุยกันสามต่อสาม เรายินดีเจอทุกเวที ประชาชนจะได้เห็นว่าเรากับรัฐบาลใครที่ถือว่าเป็นตัวจริงกันแน่” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

…..

#Thepoint #Newsthepoint

#เกาะกูด #MOU44 #ไทยกัมพูชา #รัฐบาล #แพทองธาร

#พลังประชารัฐ

Must Read

Related News

- Advertisement -