นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ความล้มเหลวในการบริหารกองทุนน้ำมัน สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล รัฐบาลกำลังเสนอ “พ.ร.ก. ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” เพื่อพยุงฐานะการเงินของกองทุนจากการอุ้มราคาน้ำมัน
.
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์และทีมเศรษฐกิจลูกผีลูกคน ทำให้วันนี้กองทุนน้ำมันของประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเงิน ฐานะการเงินสุทธิติดลบอยู่ 128,701 ล้านบาท เงินไหลออกจากกองทุนเดือนละ 4 – 5 พันล้านบาท โดยที่กองทุนไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ และกระทรวงการคลังไม่สามารถใช้งบประมาณเข้ามาอุ้มกองทุนน้ำมันหรือค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนน้ำมันได้
.
ปัญหาการบริหารกองทุนน้ำมัน ถ้าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุทีละปม ยังแก้ปัญหาผิดทิศผิดทาง การบริหารกองทุนน้ำมันก็จะเป็น “ลิงแก้แห” ที่”ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง”ปมแรกที่ยังแก้ไม่ได้ คือ อำนาจต่อรองของโรงกลั่นกับรัฐบาล ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่รัฐบาลบอกมีแผนเก็บภาษีลาภลอยหรือ Windfall Tax กับโรงกลั่นที่ได้สัดส่วนกำไรที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งต่อมาก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะเก็บกำไรของโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 7-8 พันล้านบาท สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นเพียงแค่การ “ขอรับบริจาค” งบประมาณจากโรงกลั่น ที่ในทางปฏิบัติจริงมีแค่ให้ ปตท. บริจาคเงินเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 1,000 ล้านบาท 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) เท่านั้น
.
ปมที่สอง คือ การบริหารกองทุนผิดพลาดล้มเหลว
.
เรื่องแรกคือการอุ้มน้ำมันดีเซลแบบหว่านแห ทำให้ไม่มีเงินมาอุดหนุนตอนที่ราคาน้ำมันแพงตามเจตนารมณ์ จริงอยู่ว่าภาคขนส่งใช้น้ำมันดีเซล แต่ในภาคครัวเรือนแล้ว ครัวเรือนที่ร่ำรวยขับรถหรูได้ประโยชน์จากการตรึงราคาดีเซลมากกว่าครัวเรือนยากจนมาก ยิ่งครัวเรือนร่ำรวยยิ่งมีสัดส่วนการใช้ดีเซลมาก โดยกลุ่มรวยที่สุด 10% ใช้ดีเซล 34.9% ส่วนกลุ่มที่จนที่สุด 10% ใช้ดีเซลเพียง 15.5% เพราะฉะนั้นเงินนับแสนล้านที่รัฐบาลไปหว่านแหเพื่อตรึงราคาดีเซลก็ตกไปอยู่กับคนร่ำรวยที่ขับรถหรูจำนวนมาก
.
ในเรื่องนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือการอุดหนุนแบบพุ่งเป้าไปที่ครัวเรือนรายได้น้อย ภาคขนส่งโลจิสติกส์และรถโดยสารสาธารณะ
.
ปมสุดท้าย คือเรื่องการซุกหนี้ ซึ่งทำให้วันนี้เราต้องออก พ.ร.ก.นำเงินภาษีประชาชนมาค้ำประกันหนี้กว่า 150,000 ล้านบาท
.
วิกฤติหนี้กองทุนน้ำมันแสดงให้เห็นถึงหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาลทั้งหนี้ที่มาจากการขาดดุลงบประมาณปกติ หนี้ตาม พ.ร.ก.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และยังมีหนี้อีกจำนวนมากที่ซุกไว้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของกองทุนน้ำมันนี้ หนี้การอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ปัจจุบันเรามีหนี้พอกจนสุดกรอบวินัยการเงินการคลัง
.
การที่รัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.ก.ค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนน้ำมัน คือภาพสะท้อนการบริหารงานที่ผิดพลาด ล้มเหลว สุดท้ายต้องให้ประชาชนมาแบกรับภาระเป็นหนี้สาธารณะ
.
จริงอยู่ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่วิกฤตนี้มีมาเป็นปีแล้วไม่ได้เพิ่งเกิด ถ้ารัฐบาลวางแผนการบริหารจัดการให้ดี เลือกเป้าหมายในการใช้เงิน เตรียมงบประมาณที่ใช้อย่างรอบคอบ และมีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนและรัฐบาลรับภาระในขณะที่ปล่อยให้นายทุนโรงกลั่นฟันกำไรกันอู้ฟู่บนความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศ ผมคิดว่าวันนี้เราคงไม่ต้องแบกรับหนี้มากถึง 150,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
.
‘พิธา’จวกรัฐบาลบริหารลูกผีลูกคน!!ฉุดกองทุนน้ำมันอยู่ในภาวะวิกฤต เตือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหมือน’ลิงแก้แห’
- Advertisement -