นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “อนาคตของประเทศ” ต้องเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนรัฐบาล มีรัฐบาลที่ตอบโจทย์ความท้าทาย และพาประชาชนเติบโตไปด้วยกัน ผมได้มีโอกาสร่วมวงเสวนา “ตื่น ฟื้น ฝัน” ไทยรัฐ ฟอรั่ม 2022 (Thairath Forum 2022) ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าวไทยรัฐ ร่วมกับคุณเศรษฐา ทวีสิน, คุณบรรยง พงษ์พานิช, คุณชโยทิต กฤดากร เพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดกันถึงความเป็นไปในอนาคตของประเทศไทย
.
ก่อนคิดไปถึงอนาคตผมคิดว่าเรามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจปัจจุบัน ซึ่งคนที่ผมคิดว่าการ “ตื่น” ที่สะท้อนฉันทามติที่มีต่อรัฐบาลนี้ได้ดีที่สุดคือคุณโน้ต อุดม ที่กล่าวในเดี่ยว 13 ว่า “ทำใจ ทำใจ ทำใจ รำคาญ รำคาญ รำคาญ”
.
หลังจากการรัฐประหารอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์มา 8 ปี สังคมไทยตื่นรู้ขึ้นกว่าเดิมมาก เรามีฉันทามติร่วมกันอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มคนหลายชนชั้น ฐานประชากร และอายุ ว่าเราต้องการการเลือกตั้งใหม่ ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ สังคมไทยมองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เข้าใจในเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการกระจายอำนาจ และเชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ
.
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ประเทศนี้ตกต่ำลงทุกด้าน ด้านเศรษฐกิจ แม้แต่ในปีที่เติบโตดีอย่างปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเพียง 2.5% เป็นอันดับ 6 ของอาเซียนตามหลังเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่โตสูงสุดกว่า 7% การฟื้นฟูหลังโควิดที่ไม่เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ
.
ในด้านการเมือง 8 ปีที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดการทุจริตของไทยตกไป 8 อันดับ คะแนนความเป็นประชาธิปไตยก็ลดลงมาจนเกือบจะตกการจัดชั้นเป็นประเทศประชาธิปไตย ส่วนในด้านสังคม ประเทศไทยเรามีดัชนีแห่งความสิ้นหวัง หรือ Death of despair ซึ่งคิดจากคนเสียชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง ยาเสพติด สุราเรื้อรัง เพิ่มขึ้นถึง 34% เป็นอันดับ 1 ในประเทศอาเซียน
.
ถึงแม้ว่าการบริหารของรัฐบาลจะล้มเหลว แต่ผมยังมีความหวังว่าประเทศของเราจะดีขึ้นกว่านี้ได้ หากเรามีฉันทามติร่วมกันที่ต้องการเปลี่ยนประเทศ มีรัฐบาลที่มีเจตจำนงเพื่อประชาชน รัฐบาลที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ และเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากอำนาจนอกระบบมาบิดเบือนกลไกประชาธิปไตย
.
ผมเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทาย ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การแปรรูปสินค้าการเกษตร การปฏิรูปการศึกษา และการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในด้านรายได้ การถือครองทรัพย์สิน การเข้าถึงทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่
.
ในทางเป้าหมาย จะต้องมีการกระจายที่ดินที่ถือครองโดยรัฐอยู่ถึง 60% โดยต้องมีการลดลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง การกระจายภาคท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกอยู่แค่จังหวัดหลักไม่กี่จังหวัด แต่ต้องให้เมืองรองได้รับผลพวงจากการเติบโตด้วย อุตสาหกรรมที่ไม่พึ่งพาเพียงภาคยานยนต์และอิเล็กโทรนิกส์อย่างเดียว แต่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สามารถกระจายความมั่งคั่งออกไปได้ทั่วประเทศอย่างยั่งยืน และการกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณออกไปสู่ทุกพื้นที่
.
จะมีประโยชน์อะไรถ้าเป็นคนรวย มีบ้านหรูหรา แต่ต้องสร้างบ้านให้มีรั้วสูงเพื่อป้องกันอาชญากรรมและบริเวณพื้นที่โดยรอบเต็มไปด้วยปัญหาสังคม ผมอยากฝันเห็นประเทศไทยที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำ มีการเติบโตที่มาพร้อมกับความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เติบโตคู่กับสวัสดิการของประชาชนที่เท่าเทียมกันมากขึ้นครับ
.
‘พิธา’ชม’โน้ต อุดม’สะท้อนฉันทามติสังคมต่อรัฐบาลได้ดีที่สุด!!8 ปีคนไทยตื่นรู้รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ
- Advertisement -