หน้าแรกการเมือง'ยิ่งชีพ' ชี้ การเลือกสว.67 ใช้กติกา “มองตาแล้ววัดใจ” ฮั้วกันเลือก'ตัวอ่อน'เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองถูกเลือกเป็น 'ตัวจริง'

‘ยิ่งชีพ’ ชี้ การเลือกสว.67 ใช้กติกา “มองตาแล้ววัดใจ” ฮั้วกันเลือก’ตัวอ่อน’เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองถูกเลือกเป็น ‘ตัวจริง’

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ระบุถึงการเลือกตั้ง สว. ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Yingcheep Atchanont ระบุว่า

จริงหรือไม่ว่า ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีประวัติการทำงานมาอย่างดี เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการนั้น จะได้รับการเลือกเป็นสว. ?? ก็เข้าใจว่าไม่จริง แต่อาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ในการเลือกระดับอำเภอที่ผ่านมา คนในกลุ่มเดียวกันเลือกกันเอง เมื่อได้เห็นคนที่มีประวัติดีและเหมาะสม สิ่งที่คนอยากเป็นจะทำก็คือ “ไม่เลือก” และไปเลือกตัวอ่อนสุดในกลุ่มแทน เพื่อหวังกอดคอเข้ารอบกับตัวที่อ่อนกว่า ตัวเองจะได้มีโอกาสดีขึ้นในรอบต่อไป แต่ถ้าไปเลือกตัวแข็ง ก็กลัวว่ารอบต่อไปคนจะก็ไปโหวตตัวแข็งไม่เลือกตัวเอง
คนที่ประวัติการทำงานดีตกรอบไปเยอะมาก โดยถูกต้องตามระบบแล้ว ใช่ครับ กติกานี้นำมาซึ่งความชิบหาย

จริงหรือไม่ว่า การเลือกสว. จะต้องไปนัดหมายพบปะเพื่อพูดคุยกันมาก่อนเรียบร้อย แล้วใครตกลงมาจะเลือกกันอย่างไรก็เลือกไปตามนั้น ?? ก็เข้าใจว่าจริงเพียงนิดหน่อย มีเรื่องเล่าจากผู้สมัครจำนวนมาก ว่ามีการพูดคุยตกลงกันแล้ว แต่สุดท้ายโดนหักหลังไม่เป็นไปตามนั้น เช่น นาย A บอกจะเลือกนาย B ให้นาย B เลือกนาย A แล้วจูงมือเข้ารอบไปปสองคน แต่วันจริงนาย B ก็ไปตกลงกับ C D E มาแบบนี้ ตัวเองได้ 4 คะแนน ไม่เลือกนาย A ส่วนนาย A ตกรอบ เรื่องเล่าแบบนี้ในกลุ่ม LINE มีเยอะมาก แต่เค้าไม่อยากเล่าออกสาธารณะเพราะก็อายที่ตัวเองมีการไปเตรียมกับคนอื่นมาก่อน
สิ่งนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายด้วย กติการอบนี้ออกแบบมาให้ทุกคนฝึกเล่นเกม “มองตาแล้ววัดใจ” ใครถูกหักหลังก็เรียกร้องอะไรไม่ได้ ใช่ครับ กติกานี้นำมาซึ่งความชิบหาย

จริงหรือไม่ว่า การเลือกไขว้ข้ามกลุ่มจะทำให้ไม่สามารถล็อคผลโดยกลุ่มจัดตั้งได้ ?? ก็เข้าใจว่า ทำให้การจัดตั้งยากขึ้นและต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ใช้ดวงมากขึ้น แต่ตรงกันข้ามการเลิกไขว้ข้ามกลุ่มก็โหดร้ายเจ็บปวด เพราะการแบ่งกลุ่มอาชีพมันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว เช่น กลุ่มนายจ้าง vs ลูกจ้าง, กลุ่มข้าราชการ vs ประชาสังคม ถ้าจับสลากมาเจอกันเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะรวมหัวกันไม่เลือกกลุ่มตรงข้ามเลย เพื่อสอยร่วงทั้งกลุ่มและลดเสียงคนพวกนี้ในรอบต่อไป และมันก็เกิดขึ้นมาแล้วในหลายอำเภอ
แต่ทำแบบนี้มันดีไหม – ไม่ดี นี่มันการเลือกคนเข้าสภาไม่ใช่การเล่นเกมเอาชนะสะใจ ใช่ครับ กติกานี้นำมาซึ่งความชิบหาย

โอกาสสำคัญที่เราจะไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นคือเราต้องหยุดมันตั้งแต่ตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งตอนนั้นเราทำไม่สำเร็จ ยังพอมีโอกาสเล็กๆ นิดหน่อย ระหว่าง 2-3 ปีก่อน ที่ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้วแต่เขาก็ไม่ให้ผ่านอยู่ดี
เมื่อมาถึงวันนี้พวกเราทุกคนไม่ได้มีทางเลือกอื่นครับ ยังไงก็ต้องเดินหน้าต่อไปในเกมนี้ให้จบ และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับการคัดเลือกจากสนามนี้คนนั้นน่าจะเป็นคนที่รู้เช่นเห็นชาติ ซาบซึ้งดีถึงกระบวนการคัดเลือกตัวเองที่มันมีปัญหา และช่วยกันยกมือออกเสียงเพื่อจะแก้ไขกระบวนการนี้ ไม่ให้เราต้องทำซ้ำอีกในอีกห้าปีข้างหน้า โอกาสเดียวที่เราจะออกจากระบบอันวิบัติคือเส้นทางนี้ครับ

ใครเสนอว่าเราไม่ใช้ระบบนี้และไปแก้ไขมันก่อน ก็เท่ากับมันจะถูกแก้ไขและยกมือลงมติโดย สว. แต่งตั้งชุดที่ควรจะหมดอำนาจไปแล้ว ซึ่งระบบที่พวกเขาคิดและยกมือให้มันก็คงไม่ได้ดีกว่านี้สักเท่าไหร่หรอกครับ ถ้าเสนอให้เป็นระบบเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงพวกเขาก็คงไม่ลงคะแนนอีก เค้าควรจะกลับบ้านพักผ่อนไปนานแล้ว อย่าให้เค้าทำงานอะไรอีกเลย

อีกสองสัปดาห์ก็ผลักดันกันไปเท่าที่ได้ เดี๋ยวก็รู้ผลแล้ว คนที่เอาชนะในกระบวนการนี้ได้คงไม่อาจยอมรับว่าเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด และคนที่พ่ายแพ้ตกรอบก็ไม่หมายความว่าพวกเขาไม่ดีพอหรืออย่างไร แต่ขอให้สุดท้ายเหลือคนครบ 67 คน ที่จะพาเราออกจากระบบอันชิบหายแบบนี้ด้วยครับ

สว67

ที่มา https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=7929040670459856&id=100000620045796&mibextid=WC7FNe&rdid=vR5HR6enPfSqirCl

Thepoint #Newsthepoint

เลือกตั้งสว #สว #เลือกตั้งสว67

Must Read

Related News

- Advertisement -