ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความระบุว่า ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ผม (และคนส่วนใหญ่ในประเทศ) ได้มีโอกาสใช้บริการของแพลตฟอร์มส่งอาหาร (Food Delivery) อย่างเช่น แกร็บฟู้ด (Grab Food) ฟู้ดแพนด้า (Food Panda) หรือ โรบินฮู้ด (Robinhood) รวมถึงการสั่งซื้อสินค้า (โดยเฉพาะชุดตรวจ ATK ผมต้องสั่งซื้อบ่อยมาก!!!) ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง ช้อปปี้ (Shopee) หรือ ลาซาด้า(Lazada)
.
นอกจากนี้ผมยังต้องใช้บริการแพลตฟอร์มรับส่งของอย่าง ไลน์แมน (Line Man) หรือ ลาล่ามูฟ (Lalamove) และในช่วงที่รัฐมีมาตราการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมก็จองโรงแรมผ่านแพลตฟอร์มการจองโรงแรม (OTA – online travel agency) อย่าง อโกด้า (Agoda) หรือ บุ๊คกิ้งดอทคอม (Booking.com) จะเห็นว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเรา และเกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล แต่เป็น เรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดาย ที่บริษัทให้บริการแพลตฟอร์มที่กล่าวมาเป็นบริษัทต่างชาติทั้งหมดยกเว้น แพลตฟอร์ม Robinhood ที่พัฒนาโดยธนาคารไทยพาณิชย์
.
Pain Point ที่ได้ยินจากผู้ที่นำสินค้า/บริการไปวางขายผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้คือต้องจ่ายค่า GP (Gross Profit) หรือค่าธรรมเนียมการขาย (Commission fees) ให้กับบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง เท่าที่ผมได้ข้อมูลมาค่า GP ชองแพลตฟอร์ม Food Delivery อยู่ประมาณ 30-35% ค่าธรรมเนียมการขาย ของแพลตฟอร์ม E-commerce อยู่ประมาณ 3-5.5% และค่า GP ชองแพลตฟอร์มการจองโรงแรม อยู่ประมาณ 17%-20%
.
ผมได้มีโอกาสคุยกับ สรรเพ็ชญ ศรีสวัสดิ์ หรือ เจมส์ และ อาสา วัฒนญานกุล หรือเดล สองในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย เจมส์และเดลเป็นคนรุ่นใหม่ สนใจด้านธุรกิจท่องเที่ยวและมีความสามารถด้านดิจิทัล เปิดบริษัท Startup ด้านธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจพัฒนาแพลตฟอร์มที่เน้นการใช้ฐานข้อมูลที่มีความซับซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน น้องทั้งสองบอกว่าประเทศไทยมีคนเก่งๆ และ Startups รวมถึง Tech Companies ดีๆ หลายบริษัท ที่มีความตั้งใจและมี passion ในการทำงานสูง ไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ เลย
.
สิ่งที่ขาดหายไปคือ การเข้ามาผลักดันของภาครัฐแบบสุดทาง เพราะโครงการ Startup ส่วนใหญ่ ต้องแบกรับผลขาดทุนในช่วงแรก (Burn Cash) เพื่อให้ได้คนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มจำนวนมากเพียงพอ ทั้งสองคนชวนผมคิดว่า โรงแรมในไทยต้องใช้บริการจองโรงแรมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยบริษัทต่างชาติ โดยก่อนสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 มูลค่าค่าเข้าพักโรงแรมในไทยที่จองผ่านแพลตฟอร์มจองโรงแรมเหล่านี้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี
.
ผู้ประกอบการโรงแรมไทยต้องเสียค่า GP ให้แพลตฟอร์มจองโรงแรมต่างชาติเหล่านี้ขั้นต่ำ 17% หรือประมาณ 51,000 ล้านบาทต่อปี สูงกว่า งบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเกือบสี่เท่า !!! (งบประมาณกระทรวงปี 2564 อยู่ที่ 14,161.4 ล้านบาท) น้องทั้งสองให้ข้อมูลว่า ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (โกจง คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์) พยายามส่งเสียงบอกภาครัฐให้มีมาตรการส่งเสริมอย่างสุดทาง เพื่อให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มจองโรงแรมที่สามารถช่วยผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง
.
ผม เจมส์ และเดลได้มีโอกาสหารือ ดร.อุตตม หัวหน้าพรรค พี่สนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค และทีมยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคสร้างอนาคตไทยว่า เราจะต่อยอดโครงการ National Digital ID Platform และ National e-Payment ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญในการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” และ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ได้เริ่มต้นในสมัยที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และ คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และพัฒนาสานต่อในสมัยที่ ดร.อุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
.
เราจะพัฒนา “แพลตฟอร์มสร้างอนาคตผู้ประกอบการไทย” ให้เป็นช่องทางอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญสำหรับ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน SME รวมถึงพ่อค้าแม่ค้า สามารถมาขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มนี้ โดยลดค่า GP หรือค่าธรรมเนียมการขายลง (ด้วยการสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ ผมว่าน่าจะลดลงได้มากกว่า 50% หรืออาจงดการจัดเก็บค่า GP ในช่วง 1-2 ปีแรก เพื่อเป็นแรงจูงใจกับผู้ประกอบการให้มาใช้แพลตฟอร์มนี้) ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
.
ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเสนอขายสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลง ในขณะที่ ค่า GP และ ค่าธรรมเนียมการขาย ที่ได้รับ บางส่วนสามารถนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับไรเดอร์ (Rider) อย่างเช่นการซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพให้กับไรเดอร์ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อความสำเร็จของแพลตฟอร์มนี้
.
“แพลตฟอร์มสร้างอนาคตผู้ประกอบการไทย” นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มสวัสดิการให้กับไรเดอร์แล้ว ยังสามารถรวบรวมข้อมูลที่สำคัญที่เมื่อรวมกันฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” และ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะเป็น Big Data ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาครัฐ ในการนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาตรงจุด ตรงประเด็น ปัจจุบันข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้กลับไปอยู่กับบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
.
โดยเหตุนี้ เราจะผลักดันนโยบายนี้อย่างเต็มที่ เพราะ “แพลตฟอร์มสร้างอนาคตผู้ประกอบการไทย” เป็นตัวจักรที่สำคัญต่อการ “สร้างอนาคตไทย”
.
‘สร้างอนาคตไทย’ลุยผลักดัน!!’แพลตฟอร์มสร้างอนาคตผู้ประกอบการไทย’ลดค่าGPให้ผู้ขาย ลดราคาให้ผู้ซื้อ
- Advertisement -