พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการนโยบาย ได้ร่วมแถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. นี้ โดยได้ชี้จุดบกพร่องของร่างฯ ดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการประเทศอย่างร้ายแรง
.
นายอุตตม กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยได้ติดตามการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด และพบว่ารายละเอียดในร่างดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
.
“พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี 2566 อย่างละเอียดคอบเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่นเดียวกับวันนี้ที่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าร่างฯ ดังกล่าว ไม่มีความเหมาะสมอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำไปเป็นแนวทางในการพิจารณา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศต่อไป”
.
ด้านนายสันติ กล่าวว่า รายละเอียดร่างงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท มีข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม 8 ประการ ประกอบด้วย
1.การจัดทำงบประมาณ 2566 ใช้สมมติฐานที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น การประมาณการณ์จัดเก็บรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ อาจไม่เป็นไปตามที่คาด โดยจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย ตัวอย่างปี 2563 ตั้งเป้า 2,864,562 ล้านบาท เก็บได้ 2,388,274ล้านบาท ปี 2664 ตั้งเป้า 2,829,228 ล้านบาท เก็บได้ 2,372,551 ล้านบาท ปี 2565 (5 เดือนแรก) ตั้งเป้า 1,095,092 ล้านบาท เก็บได้ 917,857 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ การวางแผนงบประมาณ 2566 ยังใช้ฐานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยมาประกอบ เช่น การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้ตัวเลขร้อยละ 3.5-4.5 (2565) และ 3.2-4.2 (2566) แต่ล่าสุดหน่วยงานสภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.5 เท่านั้น
.
อีกทั้ง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้ตัวเลขการขยายตัวที่ 1.5-2.5 (2565) และ 0.5-1.5 (2566) ทั้งที่สถานการณ์จริงวันนี้การขยายตัวของเงินเฟ้อขยับขึ้นตั้งแต่ ธ.ค. 2564 เป็น 2.17 ตามด้วย 3.23 ในเดือน ม.ค. 2565 และ 5.28 ในไตรมาสแรกของปีนี้
.
นายสันติ ระบุว่า การตั้งสมุติฐานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยมาประกอบการจัดทำงบประมาณ จะส่งผลให้การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินในอนาคตมีอุปสรรค และไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หรืออาจจะนำไปสู่การกู้ยืมและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังในอนาคต
- โครงสร้างงบประมาณ เมื่อพิจารณาจะพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างเหมือนเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่ควรปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3.งบประมาณส่วนใหญ่ของแต่ละกระทรวง เป็นงบบุคลากร ยกตัวอย่างกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูง เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณบุคลากรถึงร้อยละ 62 กระทรวงกลาโหมสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 และกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังติดหล่มงบประมาณด้านบุคลากรที่สูงมาก
4.รายจ่ายด้านการลงทุนอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำเพียงร้อยละ 21.8 อีกทั้งเมื่อดูรายละเอียดพบว่าเป็นงบลงทุนแท้จริงเพียงร้อยละ 15.46 เท่านั้น เนื่องจากงบส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีผลต่อการลงทุนอย่างแท้จริง เช่น งบจัดจ้างที่ปรึกษา และการลงทุนอื่นๆ เป็นต้น
5.งบประมาณใช้จ่ายร้อยละ 35.26 ถูกจัดสรรในหมวดงบอุดหนุน โดยเมื่อพิจารณางบประมาณแยกตามลักษณะงานที่อยู่ในแต่ละกระทรวง อาทิ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งการซ่อนค่าใช้จ่ายไว้ในงบอุดหนุนดังกล่าว ทำให้ยากต่อกระบวนการตรวจสอบ
- งบกลางที่ตั้งไว้สูงถึง 5.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.54 เป็นวงเงินที่สูงที่สุดของวงเงินงบประมาณทั้งหมด แต่เมื่อลงในรายละเอียดกลับพบว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่มีไว้เพื่อใช้จ่ายด้านการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ที่กำหนดวงเงินไว้เพียง 9.2 หมื่นล้าน แต่งบประมาณส่วนใหญ่ถึง 3.22 แสนล้านบาทกลับเป็นเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
7.งบบูรณาการ 218,477 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6.86 ของงบประมาณทั้งหมด ที่ผ่านมามีข้อซักถามถึงความไม่เหมาะสมโดยตลอด เนื่องจากไม่มีการวัดผลความสำเร็จที่ชัดเจนของเนื้องานแต่ละโครงการที่ดำเนินการไป ทำให้การทำงานแบบบูรณาการกลายเป็นเพียงรูปแบบ เหมือนเอางบฯมาซุกไว้ในแต่ละกระทรวงเพื่อนำไปใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ
8.งบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ยังไม่ถูกจำกัดแม้วันนี้ประเทศต้องการงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสูงถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และยังพบว่ามีแผนการจัดซื้อในระยะยาวอีกจำนวนมาก หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี
.
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่พรรคได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 26-28 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากหมดความหวังต่อการบริหารประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นต่อกรณีที่ฝ่านค้านส่งสัญญานในเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น พรรคสร้างอนาคตไทยจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป
.