‘หมอวาโย’ซัด’อนุทิน’จงใจสร้างมิติมืด!!ทางกฎหมาย เปิดช่องปล่อยของขายกัญชาช่วงสุญญากาศ

0
257

วันนี้(19 ก.ค.) นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีที่เคยปราศรัยโฆษณาชวนเชื่อว่า กัญชาคือยาพารวย ใครๆ ก็ปลูกได้ รัฐจะรับซื้อกัญชากิโลกรัมละ 70,000 บาท นำกัญชาไปใส่อาหาร ไปเสพ เพิ่มเสียงหัวเราะได้ โดยพรรคก้าวไกล มีจุดยืนสนับสนุนการปลดล็อกการใช้กัญชา แต่ก็จำเป็นต้องมีการควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมด้วย ควรระมัดระวังการใช้เพื่อสันทนาการเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกัน กัญชาไม่ใช่คำตอบสำหรับการรักษาทุกโรค
.
นพ.วาโย ระบุว่า แม้กรมการแพทย์ ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่ากัญชาสามารถช่วยรักษาหรืออาจช่วยรักษาโรคทางประสาทต่างๆ ได้ แต่สมาคมประสาทวิทยากลับระบุว่ายังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ารักษาโรคเหล่านั้นได้ และกัญชายังอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางโรค เช่น อัลไซเมอร์ โดยแพทยสภา ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา แนะนำเกี่ยวกับกัญชาว่า ให้ใช้เฉพาะสารกัญชาที่ทราบปริมาณที่แน่นอนของสาร THC และ CBD ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้จากแพทย์ที่ผ่านการอบรมแล้ว แต่ไม่ควรใช้กัญหาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาอาการใดๆ ไม่ใช้กัญชากับคนท้อง คนที่ให้นมบุตร และคนอายุต่ำกว่า 25 ปี เพราะจะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง นอกจากนี้ ยังไม่ควรผสมในอาหารให้คนทั่วไปกินด้วย
.
นพ.วาโย ย้อนสถานะกัญชาในทางกฎหมายของประเทศไทย จะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนกระทั่งมีการเริ่มปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองให้แก่ 7 กลุ่ม ต่อมา อนุทิน ชาญวีรกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และเดินหน้าปลดล็อกกัญชา ‘เพื่อการแพทย์’ อย่างแข็งขัน โดยวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
.
จากนั้น มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ อนุทิน จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
.
ประกาศนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ ขณะที่ ส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ แม้ช่อดอกกัญชาจะมีสาร THC สูง (ทำให้เกิดอาการมึนเมาได้) โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
.
แต่หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อพืชกัญชาและกัญชงถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใดๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ทั้งอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์เกิดเป็น ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’
.
นพ.วาโย ระบุว่า เมื่อถูกวิจารณ์หนักเข้า อนุทิน จึงออกประกาศปาหี่ตบตาประชาชน แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว ด้วยประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการใช้เพื่อสันทนาการและการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อการแพทย์อีกเหมือนเดิม
.
นพ.วาโย ตั้งข้อสังเกตว่า จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่เดินหน้าปลดล็อกกัญชาอย่างแข็งขันตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับเพิ่งยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 ทั้งที่ก็รู้กระบวนการว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อนจะส่งกลับมาที่สภา ซึ่งช่วงเวลานั้นก็ใกล้ปิดสมัยประชุมพอดี กว่าจะเปิดสภาและได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม ไม่สามารถผ่านกฎหมายได้ทัน 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ
.
สุดท้าย รัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วัน โดยที่รัฐมนตรีก็ไม่พยายามยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงออกไปเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นแล้วสร้างมิติมืดทางกฎหมายนี้ทำขึ้นมาเพื่อใคร โดยที่ผ่านมา อนุทิน ส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ ให้นายทุนได้กอบโกยให้มากที่สุดในช่วงสุญญากาศนี้
.
นพ. วาโย ย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนการปลดล็อกกัญชา แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะการไม่ควบคุมกัญชายังอาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมหาศาล อย่างที่เห็นแล้วว่า สถานทูตหลายประเทศได้ออกมาเตือนทั้งคนไทยและพลเมืองของตนเองว่าห้ามนำกัญชาเข้าประเทศ อาจเสี่ยงโทษจำคุก ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติที่มาทำงานหรือท่องเที่ยวในไทยต่างกลัวว่าจะกินกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จากอาหารผสมกัญชา แล้วทำให้ผิดวินัยร้ายแรงหรือถูกดำเนินคดีในประเทศของตัวเอง
.
นอกจากนี้ การไม่มีมาตรการควบคุมการกัญชายังขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากไทยเข้าร่วมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้วไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ จึงขัดต่อมาตรา 23 และ 28 ของอนุสัญญาฯ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศภาคีที่ปลูกกัญชาจะต้องนำระบบควบคุมฝิ่นมาบังคับใช้ และต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการค้ากัญชาอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงต้องตั้งสถาบันมาดูแลควบคุมการปลูกกัญชาเพื่อผลผลิต ซึ่งหากไม่ทำตามก็อาจมีบทลงโทษถึงขั้นคว่ำบาตรการนำเข้าส่งออก
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #หมอวาโย #วาโยอัศวรุ่งเรือง #ก้าวไกล #อภิปรายไม่ไว้วางใจ #ซักฟอก #อนุทินชาญวีรกูล #ซักฟอก #ปลดล็อคกัญชา