ภายหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปจัดหาของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับประชาชนนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบของขวัญปีใหม่ของกระทรวงต่างๆ เริ่มที่กระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 ธ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมผู้บริหารร่วมแถลงข่าวมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 หรือมาตรการของขวัญปีใหม่ นายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวม 7 มาตรการ ประกอบด้วย
.
1.มาตรการช็อปดีมีคืน ให้นำรายจ่ายการซื้อสินค้าและบริการมาหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.65 จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) มูลค่า 6,200 ล้านบาท แต่คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 42,000 ล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.12% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไป เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากขึ้น โดยไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ 1.4 ล้านราย
.
2.โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.65 ขอเวลาปรับปรุงระบบการลงทะเบียน ระบบการโอนเงิน คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงระบบ 1 เดือน รวมถึงการปิดโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.นี้ก่อน เพื่อตรวจสอบว่าการใช้เงินภายใต้โครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงินเท่าใด และเหลือวงเงินเท่าใดที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ได้
.
3.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.65 ให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ได้แก่ ร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่ต้องการขออนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไป คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 800,000 ราย คิดเป็นใบอนุญาต 1.4 ล้านใบ รัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม 380 ล้านบาท
.
4.มาตรการขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน อัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.65 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินให้ฟื้นฟูกลับมาได้โดยเร็ว มาตรการดังกล่าวคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 860 ล้านบาท
.
5.มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนองจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนออกไปอีก 1 ปี ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.65 คาดว่าจะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ 4,946 ล้านบาท
.
6.มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.69 คาดว่ามาตรการด้านภาษีจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 7,000 ล้านบาทต่อปี และมาตรการค่าธรรมเนียม รัฐสูญเสียรายได้ 835 ล้านบาท
.
7.โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุดรวม 7.43 ล้านบาท
.
ส่วนกระทรวงอื่นๆ ก็จัดโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนกันอย่างเต็มที่ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขยายเวลาการใช้สิทธิ์โครงการทัวร์เที่ยวไทย จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.65 เป็น 30 เม.ย.65 และเพิ่มจำนวนห้องพักโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีก 2 ล้านห้อง กำหนดการสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 เม.ย.65 รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2565 ของการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) ใน 5 ภูมิภาค การยกเว้น ค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบธุรกิจนำเที่ยว 2,000 บาท/ใบอนุญาต ให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเป็นระยะเวลา 2 ปี และการต่ออายุใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ 200 บาท/ใบอนุญาต ให้กับมัคคุเทศก์เป็นเวลา 2 ปี
.
กระทรวงคมนาคม ยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถีและทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.64 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 ม.ค.65 เวลา 24.00 น.
.
กระทรวงแรงงาน มอบของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบหลายชิ้น อาทิ ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีรายละเอียดดังนี้ ทางเลือกที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 2 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บาทต่อเดือน จากเดิม 100 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 3 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับทั้ง 3 ทางเลือก ยังคงเดิม จากการลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับประโยชน์กว่า 10.57 ล้านคน เงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1,408 ล้านบาท
.
2.เพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสูงสุด 100 เท่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือค้างจ่ายเงินเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้ 1.กรณีค่าชดเชย แบ่งเป็น (1) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 30 เท่า เพิ่มเป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี (2) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 50 เท่า เพิ่มเป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี (3) อัตราค่าชดเชยจากเดิม 70 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป 2.กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย อัตราเดิม 60 เท่า เพิ่มเป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
.
3.ฟรี ดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน สำหรับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านทั่วประเทศกว่า 6,000 คน กรมการจัดหางานจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 13 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญาคิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
.
สำหรับวงเงินกู้ยืม ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท รายกลุ่มกู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้สนใจสามารถยื่นกู้ได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ และสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 ถึง 31 ส.ค.65 และทำสัญญากู้ยืมเงินภายใน 30 ก.ย.65
.
- Advertisement -