นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ป่าสงวนจังหวัดชัยภูมิ ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินในพื้นที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ของนายสมปอง นครไธสง หรือ ทิดสมปอง เบื้องต้นพบว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เคยประกาศเป็นเขต ส.ป.ก. มาก่อน แต่สภาพไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม จึงส่งมอบพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้
.
อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า ผลการตรวจสอบเสร็จแล้ว 6 แปลง จากทั้งหมด 11 แปลง พบว่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูซำผักหนาม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กว่า 200 ไร่ ซึ่งได้ปลูกต้นยางพาราไว้ แต่ไม่มีเอกสารชี้ชัดว่าเป็นที่ดินในความครอบครองของผู้ใดกันแน่ โดยส่วนที่เหลือจะตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป พร้อมเตรียมให้เจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิดกับผู้บุกรุกป่าสงวน ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติ
.
ขณะที่ส.ป.ก. ชี้แจงว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสังคมออนไลน์ และสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกรณีอดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตโต หรือนายสมปอง นครไธสง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในท้องที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา หรือให้ญาติถือครองที่ดินแทน นั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอเรียนชี้แจงว่า พื้นที่ที่เป็นข่าวเดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม (E) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 538 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 81 วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2516
.
โดย ส.ป.ก. ได้รับที่ดินมาและมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2531 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 241 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นการประกาศให้อำเภอคอนสารเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ
.
จากนั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ (ส.ป.ก.ชัยภูมิ) จึงได้เข้าดำเนินการสำรวจรังวัดที่ดินเมื่อปี 2532 และ 2537 เพื่อให้ได้ขอบเขตเนื้อที่ของแปลงที่ดินแต่ละแปลงและรายชื่อผู้ครอบครองที่ดิน ต่อมาในปี 2539 ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำ ผักหนาม (E) จังหวัดชัยภูมิ ในส่วนที่ยังเป็นป่าออกจากเขตปฏิรูปที่ดินตามบันทึกข้อตกลงเพื่อกันคืนพื้นที่ป่า ออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน (RF) พ.ศ. 2538 ออกมาได้เป็น 2 แปลง คือ RF แปลงที่ 15 เนื้อที่ประมาณ 10,997 ไร่ และ RF แปลงที่ 20 เนื้อที่ประมาณ 4,223 ไร่
.
- Advertisement -