เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 เมื่อเวลา 9.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาเนื่องจากครบฝากขังครั้งที่ 3 เเละจะมายื่นคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 4 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง แจ้งข้อหาว่า “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ , ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
นายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่า ตอนนี้อาการของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ก็ไม่ค่อยดีตามที่มีข่าวเผยแพร่จากทางศูนย์ทนายความฯ แต่ตนนั้นไม่ได้เข้าไปเยี่ยมมาเป็นสัปดาห์แล้ว ให้น้องทนายคนอื่นไปเยี่ยม ทราบว่ามีหลายๆ คนกระแนะกระแหนว่าทั้ง 2 คน อดข้าวอดน้ำว่าเพื่ออะไร บอกได้ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องยึดตามหลักการ 3 ข้อ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม , ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก และประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน
วันนี้ได้เดินทางมาเพื่อขอไต่สวนคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 4 วันนี้ก็ถูกฝากขังครบ 36 วันแล้ว จะครบวันนี้ เวลา 16.00 น. โดยตะวันกับแฟรงค์ ถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 วรรคสอง คือโทษไม่เกิน 7 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ํา และทางศาลรับฝากขัง เพราะตำรวจอ้างว่าสอบพยานไม่เสร็จ จากการไต่สวนครั้งที่แล้วเหลือ พยานอีก 3 – 4 ปาก เป็นตำรวจด้วย วันนี้จะขอเบิกตัว ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เหตุผลที่เบิกตัวมาทั้งๆ ที่เด็กเจ็บป่วย เราอยากได้ความเห็นจากศาล เนื่องจากการขอประกันตัวครั้งที่แล้ว ศาลก็บอกว่าอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยแล้วแข็งแรงก็อยู่ได้แล้ว อย่างที่ศาลเชื่อ ก็คงต้องเบิกตัวมาได้ เพราะการไต่สวนเรื่องนี้ต้องอยู่ต่อหน้าผู้ต้องหาว่าเขาคัดค้านหรือไม่ แล้วตนจะถามว่าทําไมต้องฝากขังต่อ คดีอื่นๆ ได้ฝากขังหรือไม่
“ความจริงแล้วต้องเข้าใจว่า การฝากขังนี่คือการเอาตัวมาก่อนที่จะมีการฟ้องศาล ซึ่งยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ตรงที่ว่าไม่ให้สิทธิ์เด็กในการประกันตัวน้องสองคน ถ้าศาลไม่รับต่อ ศาลก็ปล่อยตัว ไม่ต้องประกัน แต่ถ้าศาลรับฝากขังไว้ก็คงต้องเป็นไปตามกลไก เพราะเด็กก็ประกาศว่าเขาจะไม่ประกันตัว หากพิจารณาตามโทษแล้วจะฝากขังระหว่างการสอบสวนไว้ได้แค่ 48 วัน ถ้าครั้งนี้จะรับฝากขัง ทางตำรวจคงพยายามขวนขวายไปฟ้องคดี แต่ปัญหาคือการฝากขังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน บางคดีตํารวจก็ให้ประกันตัวบางคดีก็นำผู้ต้องหาไปฝากขัง ทั้งนี้ทางตํารวจก็ยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสอง ถ้าไม่ฝากขังไว้เด็กก็ไม่ได้หลบหนีไปไหน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแล้วก็ไม่ได้ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ข่มขู่ใครก็ไม่ได้ แต่ตำรวจก็ยังดันทุรังมาฝากขังและคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ก็ตามใจ แต่ว่าขอให้ทําแบบนี้ทุกคดีก็แล้วกัน” นายกฤษฎางค์ ระบุ
ต่อมา นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” สื่อมวลชนอาวุโส และนายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ (สงวนนามสกุล) ตัวเเทนของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและผู้บุกเบิกวิสัยทัศน์สังคมศาสตร์และประวัติศาตร์ไทย ได้เดินทางมายื่นคำแถลงขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังและคัดค้านการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวตะวันและแฟรงค์ รวมถึงประชาชนผู้ต่อสู้ทางความคิดรายอื่นอันจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยนายอธึกกิต ออกเเถลงการณ์ระบุว่า เชื่อว่าไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลักจากประชาธิปไตย โดยมีหลักใหญ่ใจความคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และเชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็นเสาหลัก ซี่งรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง ขอยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังควบคุมบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลที่กฎหมายกำหนดนั้นจะกระทำมิได้
ด้วยความเคารพต่อศาลอาญาเห็นว่าการรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองในคดีนี้ไว้ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไป ทั้งที่ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญา และโดยที่ทั้งสองไม่ใช่บุคคลที่จะสามารถเข้ายุ่งเหยิงพยานหลักฐานและกระทำการขัดขวางสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อตัวเยาวชนทั้งสอง โดยอาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ในการพิทักษ์รักษากระบวนการยุติธรรมและดำรงไว้ ซึ่งระบบอันที่พวกเราผู้ใหญ่และเราเพิกเฉยละเลยต่อการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนปัญญาชนทั้งหลายเป็นเสาหลักในการปกปักดูแลประชาชนนั้น ไปไม่ได้ และเราต้องเรียนรู้หลักการตามนิติปรัชญา เพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นธรรมให้ทุกชนเท่าเทียมกัน
ขอเรียนท่านผู้พิพากษาโปรดพิจารณาไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไป ก็ขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลย และพิจารณาให้ความเป็นธรรมปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทางความคิดทั้งหลาย เมื่อคราวที่ท่านมีอำนาจพิจารณาด้วย
นายอธึกกิต กล่าวว่า สื่อบางที่สร้างกระเเสให้ทานตะวันเป็นเหมือนเเม่มด จนกดดันให้ตำรวจต้องหาข้อหาที่ร้ายเเรงมาสนองกระเเสสังคม ทั้งที่จริงดูจากพฤติการณ์การไม่ฟังคำสั่งของตำรวจที่อยู่ท้ายขบวนเสด็จฯ ควรจะเป็นเเค่ความผิดจราจรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อราชวงศ์ มองว่าการตั้งข้อหามาตรา 116 เป็นการตั้งข้อหาที่เกินกว่าเหตุ ดูจากพฤติการณ์คือเด็กทั้งสองออกรถก่อนที่ตำรวจจะอนุญาตตำรวจก็มาล้อม การบีบเเตรดังกล่าวจึงเป็นการบีบใส่ตำรวจ เเต่ที่ไม่มีการตั้งข้อหามาตรา 112 คงเพราะจะกลัวว่าเป็นการอ้างสถาบันมากเกินไปก็เลยตั้งข้อหามาตรา 116 เพื่อสนองความรู้สึกกระเเสดรามา
ด้านนายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ ตัวเเทนของนายสุลักษณ์ ได้อ่านเเถลงการณ์เเทนนายนายสุลักษณ์ ความว่า “ข้าพเจ้าเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิ้ล เทมเปิล ซึ่งเชื่อมั่นว่าโดยหลักแห่งนิติปรัชญ ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอื่นใดหรือการหลบหนีเท่านั้น ต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้
ผมเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนสองคนนี้เห็นชัดว่าเป็นกรณีของการต่อสู้ทางควาคิด ไม่มีเหตุผลใด ทั้งทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องขอของรัฐ ขอศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจที่ศาลยุติธรรมมีอยู่ เพื่อให้เขามีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หากผิดก็ลงทัณฑ์ หากถูกก็ให้ยกฟ้อง และให้ปล่อยเด็กโดยทันที”