ดักดานไม่ได้!!’พิธา’ชี้เศรษฐกิจร่อแร่ต้องมองไปข้างหน้า4 ปัจจัย ซัดอย่ามัวแต่เก็บภาษีแล้วแจกเงิน

0
210

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงนี้ที่ผมติดโควิดและต้องกักตัวทำให้ผมพอมีเวลาได้ตามเรื่องเศรษฐกิจและการเงินที่เป็นวิชาหลักตอนปริญญาตรีและอาชีพแรกๆ ของผมในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค พอผมได้ตามดูดัชนีต่างๆ ที่บ่งบอกอุณหภูมิเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อค่าครองชีพในไทย และได้ติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
.
วันนี้ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในด้านนโยบายการเงินผมเข้าใจดีว่าภาวะเงินเฟ้อที่คนไทยประสบอยู่ในขณะนี้มาจากปัญหาต้นทุนพลังงานและการขนส่งในโลกที่สูงขึ้น ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรง เพราะฉะนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้จึงสมเหตุสมผลเพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด
.
ตอนนี้ลูกบอลกลับมาอยู่ในฝั่งของรัฐบาลแล้วครับว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อรับมือกับสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายๆ เรื่อง ที่นับวันจะน่าเป็นห่วง โดยผมจะขอยกตัวอย่างใน 4 เรื่องด้วยกัน
.
เรื่องแรกคือ Inverted Yield Curve หรือภาวะอัตราตอบแทนพันธบัตรในระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่มักเป็นตัวชี้วัดการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนี้นักวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
.
ฝั่งที่ชี้ว่าน่ากังวลและเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย โดยปกติแล้วพันธบัตรระยะยาวต้องให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น แต่เมื่อใดที่พันธบัตรระยะยาวให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพันธบัตรระยะสั้นก็หมายความว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวจะไม่ดี ทำให้นักลงทุนไม่กล้าผูกพันเงินของตัวเองในระยะยาว
.
ฝั่งที่ไม่คิดว่าน่ากังวล ชี้ว่าพันธบัตรที่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ คือ พันธบัตร 5 ปี เทียบ 30 ปี ซึ่งไม่ใช่ตัวชี้วัดที่แม่นยำเพราะให้สัญญาณที่ผิดพลาดในปี 1994 และ 2006 ในขณะที่พันธบัตร 3 เดือน เทียบ 10 ปี ในตอนนี้ชันขึ้นอย่างมากคือไม่น่าเป็นห่วงเลย โดยปกติพันธบัตร 2 ปี เทียบ 10 ปีจะขยับในทางเดียวกับ 3 เดือน เทียบ 10 ปี
.
แต่ตอนนี้ขยับแตกต่างกันอาจเป็นเพราะตลาดพันธบัตร 2 ปีกำลังเตรียมรับการเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ สำหรับพันธบัตร 10 ปีจะน่าเป็นห่วงเมื่ออัตราผลตอบแทนลดลงจนน้อยกว่าพันธบัตร 2 ปี แต่ในตอนนี้อัตราการเติบโตของพันธบัตร 10 ปียังเพิ่มขึ้นอยู่ แต่เพิ่มขึ้นช้ากว่า 2 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นี่เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการทางการคลังในการรับมือ
.
เรื่องที่สอง คือภาวะการขาดดุลแบบ Twin Deficit หรือขาดดุลทั้งการคลัง (Fiscal Deficit) ขาดดุลทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Deficit) การท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น วิกฤติราคาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า ค่าเงินบาทถ้าแตะ 34 บาทจะอ่อนที่สุดในรอบ 5 ปี ทำให้การนำเข้าต่างๆ เช่น พลังงาน และปุ๋ย แพงขึ้นไปอีกและกระทบดุลบัญชีเดินสะพัดอีก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะไปกระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เคยเป็นจุดแข็งของประเทศเรา
.
เรื่องที่สามคือวิกฤติอาหารโลก ในช่วงเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาอาหารโลกก็สูงขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมาซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เก็บสถิติมา มากไปกว่านี้ทั้ง FAO และ WFP ก็ได้เตือนว่าในฤดูกาลเก็บเกี่ยวครั้งถัดไปของปีนี้จะเกิดวิกฤติอาหารโลก เพราะยูเครนจะไม่สามารถเพาะปลูกข้าวสาลีในฤดูกาลนี้ได้ตามปกติ และจากปุ๋ยเคมีที่แพงและขาดแคลนทั้งโลก จะทำให้เกษตรกรทั่วโลกใช้ปุ๋ยเคมีลดลงและผลผลิตทั้งโลกจะออกมาน้อยลง
.
รัฐบาลต้องอย่าเพิ่งชะล่าใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบันนี้จะให้ผลผลิตเท่ากับปุ๋ยเคมีได้ จากข้อมูลของ Our World in Data ซึ่งอ้างอิงวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Geoscience นั้น หากโลกของเราไม่มีปุ๋ยเคมีเลยจะสามารถผลิตอาหารเลี้ยงประชากรได้เพียง 3.8 พันล้านคนเท่านั้น
.
เรื่องที่สี่คือการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรถึง 26 ล้านคน ซึ่งจะเพิ่มอัตราค่าขนส่งของทั้งโลก ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก ท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือหนิงปัว (ใกล้กับเซี่ยงไฮ้) เป็นท่าเรือที่พลุกพล่านอันดับ 1 และอันดับ 3 ของโลก ตอนนี้ท่าเรือยังเปิดทำการปกติ แต่มาตรการโควิดทำให้กระบวนการศุลกากรล่าช้าลงมาก จะการขนส่งจากตัวเมืองมายังท่าเรือหยุดชะงัก โดยทางบริษัท Maersk ได้ประเมินว่าจากการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้ ทำให้มีรถบรรทุกออกมาจากเซี่ยงไฮ้ลดลง 30% การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกจากการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้จะทำให้ราคาขนส่งทั่วโลกและคนไทยต้องแบกรับ เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
.
สำหรับการแก้ปัญหาในฝั่งรัฐบาลที่ต้องใช้นโยบายการคลัง ผมเสนอว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเพียง “Tax and spend” หรือเก็บภาษีอย่างไรแล้วใช้อย่างไร ให้เป็น “Invest and grow” คือการลงทุนสำหรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยแทบไม่มีเลยใน พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.ก.เงินกู้ มาตรการที่ผ่านๆ มาของรัฐบาลมีเพียงการเยียวยาเฉพาะหน้าและการพยุงกำลังซื้อของประชาชนรอการท่องเที่ยวกลับมา ซึ่งต่อให้เราฟื้นฟูได้ เศรษฐกิจของเราจะกลับไปเปราะบางเหมือนเดิม เราต้องลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อรองรับความท้าทายทั้งในด้านสังคมสูงวัยและสิ่งแวดล้อม หรือลงทุนในมนุษย์ผ่านรัฐสวัสดิการต่างๆ ประเทศไทยถึงจะรื้อฟื้นกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมได้
.
ถ้าไม่ยอมให้ประเทศมีเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ๆ มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะมาสร้างงาน มัวแต่เก็บภาษีแล้วแจกเงิน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ กฎหมายดีๆ อย่างสุราก้าวหน้าที่จะเพิ่มงาน เพิ่มมูลค่า เพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ ยกตัวอย่างที่ตำบลสะเอียบมีประชากรเพียง 5,600 คน แต่เก็บภาษีได้ปีละ 400 ล้านบาท ถ้าปลดล็อกประเทศไทยให้เท่าเทียมกัน เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นได้ขนาดไหน หรือยกตัวอย่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่เข้าใจถึงความหลากหลายและจะช่วยสร้างเศรษฐกิจ Rainbow Economy ให้เกิดขึ้นจริงได้ เหล่านี้คืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่รัฐบาลเอาแต่พูดแต่ไม่เคยให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
.
เศรษฐกิจร่อแร่แบบนี้เราต้องเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยทำมาหากินให้ได้มากที่สุด ประเทศไทยจะดักดานอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้วครับ
.
ThePOINT #ข่าวการเมือง #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #พรรคก้าวไกล #เศรษฐกิจ #ค่าครองชีพ #ภาษี