เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล นักวิชาการ และที่ปรึกษาของพรรคก้าวไกล แถลงถึงการประชุม กมธ.
นายจุลพงศ์กล่าวว่า วันนี้จะมีการประชุมนัดสุดท้าย ในวาระการพิจารณาอนุมัติผลการศึกษารายงานของ กมธ.ชุดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลที่เป็น กมธ. ได้ทักท้วงถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงาน และความจำเป็นที่ กมธ.จะต้องได้รับคำตอบ และคำชี้แจงเพิ่มเติมจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในหลายประเด็น เช่น ไม่มีความชัดเจนเรื่องท่อส่งน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เคยมีมาก่อน ความน่าเชื่อถือต่างๆ อาทิ การประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือ และสินค้าซึ่งจะใช้ในโครงการแลนด์บริดจ์ ที่เกินจริง การประเมินความแออัดของการเดินเรือ ในช่องแคบมะละกา และท่าเรือสิงคโปร์ ที่ยังมีข้อสงสัย การประหยัดต้นทุนการขนส่ง เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาที่ยังมีความไม่ชัดเจน รวมถึงการไม่สามารถให้ตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุผลในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน และเศรษฐกิจ ก่อนที่ กมธ.จะพิจารณา และอนุมัติรายงานผลการศึกษา
นอกจากนี้ บทสรุปของรายงานการศึกษาที่ สนข.เคยทำ ได้ตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17% ขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาสภาพัฒนาการและเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มีผลว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สื่อข้อมูลผิดกับนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปี รัฐบาลใช้งบประมาณในการศึกษาโครงการนี้สูงถึงกว่า 68 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้โครงการนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
แต่เนื่องจาก กมธ.ที่เป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกล มีจำนวนเสียงส่วนน้อย กมธ. จึงอาศัยมติที่ประชุม เพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานในวันนี้ ดังนั้น กมธ. 4 คนของพรรคก้าวไกล ได้แก่ นางสาวศิริกัญญา นายศุภณัฐ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และตน จึงขอถอนตัว และลาออกจาก กมธ. โดยให้มีผลทันทีในวันนี้
ด้านนางสาวศิริกัญญากล่าวว่า ได้มีการซักถามค้างจากในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ และยังคงมีข้อถกเถียงกันในหลายประเด็น เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องข้อมูล และข้อเท็จจริง ว่ามีความคุ้มค่า และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประมาณการสินค้า ว่ามีเฉพาะสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ หรือสินค้าเทกอง รวมถึงเส้นทางเดินเรือต่างๆ ที่มีการโยงใยเส้นทางมากมาย แต่เรายังไม่ได้คำตอบ ว่าแต่ละเส้นทางนั้น มีความเป็นมาอย่างไร เป็นเรือประเภทไหน หรือมีปริมาณสินค้าเท่าไหร่ และมีสมมุติฐานอย่างไรบ้าง อีกทั้งสมมุติฐานในเรื่องการเจริญเติบโตของท่าเรือที่ยังคงถกเถียงกันไม่จบ
นางสาวศิริกัญญากล่าวต่อว่า ณ วันนั้น ทางที่ประชุมตอบคำถามไม่ได้สักคำถามเดียว และสุดท้ายประธานก็ได้สั่งปิดประชุม และได้กล่าวว่าจะให้มีการเชิญ สนข.มาใหม่ เพื่อให้ตอบคำถามจนสิ้นสงสัย และให้กลับไปเตรียมคำตอบมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังมีปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมครั้งที่แล้วชัดเจน ว่าต้องให้หน่วยงานมาตอบคำถามจนสิ้นสงสัย แต่ในวันนี้กลายเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาตัวรายงานครั้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่คำตอบจาก สนข. ยังได้ไม่ครบถ้วน ตนจึงได้ร้องขอกับทั้งประธาน และฝ่ายเลขาฯ ให้เชิญหน่วยงานมา แต่ก็ไม่ได้มีการเชิญมาอีกครั้ง และพยายามลงมติ เพื่อรับรองตัวรายงานฉบับนี้ จึงเป็นเหตุให้ยังไม่สามารถพิจารณาตัวรายงานฉบับนี้ได้อย่างแท้จริง เพราะข้อมูล ข้อเท็จจริง ยังได้ไม่ครบถ้วน และไม่สามารถมีส่วนร่วมเป็นตรายางในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติรายงานฉบับนี้ได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลมาให้ และท้ายที่สุด ยังไม่มีการขอต่อขยายอายุของ กมธ.ชุดนี้ออกไป เพื่อให้มีพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยการเชิญตัวแทนของหน่วยงานอย่าง สนข. หรือที่ปรึกษาที่จัดทำโครงการนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จึงเป็นเหตุผลที่ตนคิดว่าไม่สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ใน กมธ.ชุดนี้ต่อได้
นายศุภณัฐกล่าวเสริมว่า เจตนารมณ์หลักของเรา คือการมาหาคำตอบให้กับประชาชน ว่าจริงๆ แล้ว โครงการแลนด์บริดจ์ จะกำไร ขาดทุน หรือลดระยะเวลาได้หรือไม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เราพยายามทำมาร่วม 90 วัน เรายังหาคำตอบไม่ได้ ทำไมรายงานของสภาพัฒน์ ถึงแตกต่างกับรายงานของ สนข. จนถึงวันนี้ข้อมูลหลายๆ อย่าง ซึ่งอยู่ในรายงานที่กำลังจะมีการลงมติเห็นชอบ ก็ยังใช้ข้อมูลที่เป็นของ สนข.เกือบทั้งหมด โดยที่เราไม่มีเหตุผล ว่าทำไมเราถึงตัดข้อมูลของสภาพัฒน์ทิ้ง ในฐานะที่เราเป็น กมธ.ผู้ศึกษา ขอย้ำว่า เราไม่ควรเลือกที่จะหยิบข้อมูลไหน หรือไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้ เรามีหน้าที่นำข้อมูลรอบด้านทั้งหมดใส่ลงไปในรายงาน และอ้างอิงว่าข้อมูลที่ได้มานั้น ได้มาจากหน่วยงานไหน ได้มาจากใคร แต่สิ่งที่เห็นอยู่ ผลสรุปที่ออกมาแล้ว เป็นการสรุปที่อาจจะแทงหวยลงไป ว่าเราหยิบข้อมูลของ สนข.เป็นตัวตั้ง สุดท้ายแล้วถามว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศหรือไม่ ต้องสร้างแน่นอน เพราะเรากำลังนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานข้าราชการไปขายกับต่างประเทศ ว่าสามารถลดระยะเวลาได้ จะสร้างกำไร สร้างเศรษฐกิจได้ ตามตัวเลขต่างๆ ที่สูงเกินไป
“ผมขอถามกลับ ว่าหากต่างประเทศย้อนกลับมาถามเรา ว่าศึกษาแล้วไม่คุ้มทุนอย่างที่รัฐบาลไทยไปขายเขา มันจะเกิดอะไรขึ้น หมายความว่าประสิทธิภาพในการศึกษา ทำวิจัย ข้อมูลของรัฐบาลไทย แย่หรือมีปัญหาหรือเปล่า หรือรัฐบาลไทยกำลังหลอกให้ต่างชาติมาลงทุนหรือเปล่า” นายศุภณัฐกล่าว
นายศุภณัฐกล่าวอีกว่า นี่จึงเป็นเหตุผล ว่าหากรายงานออกมาเป็นแบบนี้ เราใช้ กมธ.หรือสภา เป็นตรายาง เป็นตราประทับลงไป สร้างความเสียหายทั้งต่อตัวตนซึ่งเป็นหนึ่งใน กมธ. ผู้ศึกษา และสร้างความเสียหายต่อรัฐสภา หรือสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อ้างอิง เพื่อเชิญมาลงทุน และขายให้กับต่างชาติ
เมื่อถามว่า หลังจากนี้ พรรคก้าวไกลจะมีการขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร นายศุภณัฐกล่าวว่า หากมีการนำเข้าสู่สภา คงจะมีการอภิปราย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของเรา แต่เป็นข้อมูลที่ สนข.ศึกษา แล้วนำมาตัดแปะลงไป
ถามว่า ส.ส.พรรคอื่นใน กมธ. จะแสดงเจตจำนงร่วมด้วยหรือไม่ นายศุภณัฐกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีอาจารย์ที่เป็นคนนอกอีกหนึ่งคน แต่ในส่วนของพรรคอื่นๆ ยังไม่มีการแสดงเจตจำนงนี้ ย้ำว่า เราไม่ได้ค้านการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นคนละเรื่องกัน หน้าที่ของ กมธ. คือศึกษาเฉพาะตัวโครงการแลนด์บริดจ์