‘ดร.ไตรรงค์’ยกยุค’ป่าเปรม-บิ๊กตู่’สร้างความมั่นคงให้ประเทศมากที่สุด!!อย่าท่องแค่คาถาต้องมีปชต.ที่สมบูรณ์

0
192

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กข้อความระบุว่า ระบอบใดเหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทย (มันไม่ใช่ทั้งระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์) ในประวัติศาสตร์ของโลกนั้น มีหลายประเทศที่ต้องประสบปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศจนไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นได้อย่างที่น่าจะเป็น
.
ตัวอย่างที่ดีก็คือประเทศฝรั่งเศส เพราะก่อนปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญที่ให้สภานิติบัญญัติที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีแล้วให้ประธานาธิบดีเป็นคนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เนื่องจากประเทศนี้ได้มีการจัดตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี ค.ศ. 1870 โดยสมัชชามีมติให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์อันเป็นการยกเลิกแบบถอนรากถอนโคนอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้าย (ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1789 ที่ประชาชนเข้ายึดอำนาจการปกครองจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และทำการปลงพระชนม์พระองค์ด้วย)
.
แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศนั้น ได้ก่อให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมือง เพราะทุกคนต่างก็ต้องการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จึงต้องมีการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้อำนาจรัฐอยู่ในมือของพวกตน ใครที่ได้เป็นรัฐบาลก็จะไม่มีเวลามาวางแผนเพื่อความเจริญของประเทศในระยะยาวได้ เพราะจะถูกฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลจ้องตีรวน สร้างความปั่นป่วนให้รัฐบาลไม่สามารถจะบริหารประเทศได้ด้วยความสะดวกทุกคน
.
ล้วนเห็นแก่ประโยชน์ของตนและพรรคของตนมากกว่าประโยชน์ของชาติ มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองเพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ต้องลาออกไป เพื่อกลุ่มใหม่จะได้ขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่นี้ก็จะเจอปัญหาการถูกก่อกวน บ่อนทำลายเสถียรภาพในทุกวิถีทางอีกเหมือนเดิม จนกลายเป็น วงจรอุบาทว์ ที่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถจะมีเสถียรภาพบริหารชาติอยู่นานได้
.
จากข้อมูลพบว่าเพียงระยะเวลา 12 ปี นับย้อนหลังไปจาก ค.ศ. 1957 ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐบาลถึง 20 ชุด หรือเฉลี่ยแล้วแต่ละชุดอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 6 เดือนเท่านั้น (จากหนังสือ การเมืองในฝรั่งเศส เขียนโดย ศาสตราจารย์ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย) จนทุกคนทุกพรรคได้มองเห็นความหายนะของชาติจึงได้ร่วมกันไปเชิญ วีรบุรุษฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่2 คือท่านจอมพล ชาร์ล เดอ โกล มาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งภายในไม่ถึงปี นายกฯ คนใหม่ก็เสนอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเสนอให้ประชาชนลงมติเห็นด้วยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศซึ่งได้มีการประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1958 และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน
.
ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนและมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ประธานาธิบดีจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านกลาโหม มีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมและมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเหล่านี้ทำให้เกิดความลงตัวรัฐบาลมีเสถียรภาพจนสามารถมีเวลาวางยุทธศาสตร์และนโยบายระยะยาวทั้งในทางเศรษกิจและสังคม จนเจริญมั่งคั่งอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ (รายละเอียดจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปเพราะมีหลายประเทศที่น่าพูดถึง เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และออสเตรีย เป็นต้น)
.
ดูเขาแล้วลองย้อนดูตัวเราเองบ้างจะดีไหม?
.
ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2516 เรามีรัฐบาลเผด็จการโดยพวกคณะราษฎร์และผู้สืบทอดมรดก มากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยแต่ทุกรัฐบาลล้วนวุ่นวายอยู่กับการรักษาอำนาจของตน จึงไม่มีเวลาคิดเรื่องการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการคิดเรื่องอนาคตทางเศรษกิจของประเทศ ได้มาเริ่มทำกันค่อนข้างจะจริงจังก็สมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปีพ.ศ. 2502 ซึ่งได้ปรับปรุงสำนักงานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามให้มาเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกคือแผนสำหรับ พ.ศ.2504-2509 (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ.2515)
.
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เป็นการกระทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐฯ ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กำลังโตวันโตคืนบนโลกอยู่ในขณะนั้น และเพื่อเป็นการตอบแทนกัน จอมพล ป. และ จอมพล สฤษดิ์ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆที่เป็นรัฐบาลเผด็จการ (อยากทราบความกระจ่างของรายละเอียดในเรื่องนี้ สามารถหาอ่านได้จากหนังสืออันทรงคุณค่าชื่อ “50ปีเศรษฐกิจไทย” ของคุณบรรยง พงษ์พานิช 2022, บริษัทภาพพิมพ์ จำกัด เป็นผู้พิมพ์จำหน่าย)
.
หลังจากมีการปฏิวัติใหญ่โดยประชาชนและนักศึกษาในปีพ.ศ.2516 จึงเริ่มมีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในสมัย ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นก็มีการสลับกันไปมาระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคิดเรื่องยุทธศาสตร์ของประเทศกันเลย เพราะมัวยุ่งอยู่กับการประณามด่ามึงด่ากูกันว่า ใครเป็นรัฐบาลที่โกงบ้านกินเมืองมากกว่ากัน
ประเทศต้องรอจนถึง พ.ศ. 2523 จึงได้มีรัฐบาลที่เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์และนโยบายระยะยาวเพื่อให้ชาติมีความรุ่งเรืองและมั่นคงในทางเศรษกิจกันอย่างจริงจัง
.
ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการจัดให้มีท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบังและเป็นนายกรัฐมนตรี คนแรกที่มีคำสั่งให้มีแบบแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
.
ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2561 ในสมัยของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) พร้อมกับการมีการปรับปรุงพัฒนาระบบคมนาคมทุกชนิดให้เอื้อต่อความเจริญของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นตามแผนในยุทธศาสตร์ พูดได้เต็มปากว่าไม่เคยมีรัฐบาลใดๆในอดีตที่ได้สร้างความมั่นคงเช่นนี้ให้กับอนาคตของประเทศในทางเศรษฐกิจเหมือนรัฐบาลของ พล.อ.เปรม และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์
.
ที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ท่องแต่คาถาว่าประเทศต้องมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ ต้องมีความเสมอภาคที่สมบูรณ์ ทุกอย่างต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วจะทำให้ประเทศเจริญและมีเสถียรภาพ เชื่อผมเถอะ ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีเสถียรภาพที่สมบูรณ์และก็ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีความเสมอภาคที่สมบูรณ์
.
ท่านพุทธทาสฯพูดถูกที่ว่า ระบอบอะไรก็ได้ถ้าสามารถทำให้มีรัฐบาลที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้จริงๆก็เป็นระบอบที่ดีทั้งสิ้น การท่องว่าต้องเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้นไม่ถูก ต้องเป็น #ระบอบที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงจะถูกกว่า อย่าลืมว่ารัฐบาลที่โกงบ้านกินเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองไทยคือรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #ไตรรงค์สุวรรณคีรี #ป๋าเปรม #บิ๊กตู่ #รัฐบาล