‘ดร.สันติ’แสดงความห่วงใยวิกฤติเศรษฐกิจแนะรัฐบาลพูดให้ชัด จะฝ่า Perfect Storm ทางเศรษฐกิจอย่างไร ชี้ กระตุ้นการบริโภคเพียงหวังตัวเลข GDP ไม่ใช่ทางออก แต่ควรให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

0
272

วันนี้ (15 ก.ค.65) ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้ โดยระบุว่า จากที่ตนได้ติดตามตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันดิบ (WTI) อัตราแลกเปลี่ยน BHT/US$ และข่าวอื่น ๆ ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้ ได้เห็นค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง (เทียบกับดอลลาร์ สรอ.) อยู่ที่ 36.58 บาทโดยเห็นค่าที่อ่อนสุดอยู่ที่ 36.64 บาทในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ต่ำกว่า 100 US$/Barrel อยู่ที่ 96.55 US$/Barrel โดยที่ต่ำสุดที่ 91.25 US$/Barrel ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ยังผันผวนอยู่ต่ำกว่า 100 US$/Barrel หรืออาจจะเกินขึ้นไปบ้างในบางช่วงเวลา ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าปั๊มของไทยเราเช้าวันนี้ กลุ่มเบนซินและ gassohol มีราคาลดลง (แต่ไม่แน่ใจว่าจะลดลงไปได้อีกกี่วัน)

อีกทั้ง yield curve ของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เห็นชัดว่าเป็น inverted yield curve ซึ่งแสดงถึงความกังวลใจที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แน่นอนว่า ระบบเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ย้ำอีกครั้งว่า “พายุรุนแรงทางเศรษฐกิจ” หรือ perfect storm ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนในโลกนี้ (และประเทศไทย) และคงจะโหมกระหน่ำอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก”

ดร.สันติ ระบุว่า เวลานี้จึงไม่ใช่เวลาที่จะพูดถึงเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเรื่องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่เป็นเวลาต้องหาวิธีว่าจะจับมือกันต่อสู้ความผันผวนของพายุเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำให้รอดชีวิตกันไปได้อย่างไร

โดยภาคประชาชนนั้น ตนคิดว่าต้องวางแผนการจับจ่ายใช้สอยของตัวเองอย่างรอบคอบ การดำรงชีวิตอย่างประหยัด พอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (ไม่ว่าจะเป็น กาแฟราคาแพง บุหรี่ เหล้า — ช่วงเข้าพรรษางดเหล้า — การเที่ยวเตร่ที่มากเกินไป การเสี่ยงโชค — สลากทั้ง online และเป็นใบ รวมทั้งหวยใต้ดิน — การพนัน ฯลฯ)

สำหรับภาครัฐนั้น (แนะนำไปก็คงไม่มีใครสนใจ) เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เพราะการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อหวังให้เศรษฐกิจเติบโตนั้น คงจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป (ที่จริง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงติดลบ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมาก ก็ไม่ได้เป็นการทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก) ในขณะที่นโยบายการคลังก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เพราะภาระทางการคลังในขณะนี้มีค่อนข้างมาก และการหย่อนวินัยทางการคลัง ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป (ก่อนหน้านี้ ตอนที่ตนยังเป็นสส. และเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ได้เตือนตลอดเวลาว่า อย่าดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผิดเวลา และเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก … แต่ไม่มีใครสนใจ เดินหน้าแจกแหลก) …

“นาทีนี้ ก็คงไม่ใช่เวลามานั่งต่อว่าต่อขานสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่อยากเห็นความร่วมมือ สอดประสานกันของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน”

การรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน (แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง และอาจจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลงได้ก็ตาม) ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิต และเป็นต้นน้ำของการผลิตสินค้าและบริการทุกอย่าง ไฟฟ้า พลังงานต่าง ๆ โดยรัฐต้องเป็นตัวอย่างในการประหยัดให้ประชาชนเห็น และไม่คิดว่า การกระตุ้นการบริโภคจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมในขณะนี้ (เพียงเพราะอยากให้ตัวเลข GDP growth ยังคงเป็นบวก เพื่อไม่ให้ต้องยอมรับว่าเกิด stagflation ขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย) แต่ต้องชี้ให้เห็นถึงการบริโภคที่มีเหตุผล บริโภคอย่างพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย

นอกจากนั้น รัฐต้องมีมาตรการดูแลคนยากไร้ให้ยังคงสามารถดำรงชีวิตได้ เช่น การให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจ้าง และซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อย มากกว่าที่จะมุ่งจัดซื้อสินค้าและบริการราคาแพงจากต่างประเทศ ฯลฯ