‘พิธา’ร่ายแจง!!หลังถูกอัดยับปมอภิปรายตัดงบฯเงินบำนาญ ยันบริสุทธิ์ใจไร้อคติข้าราชการ

0
456

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงกณีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เกี่ยวกับเรื่องเงินบำนาญ โดยระบุข้อความว่า ตอบชัดๆ กับพิธา กรณี 5  ข้อสงสัย เกี่ยวกับงบประมาณบำนาญ ในเช้าวันนี้ผมได้ออกรายการ“เจาะลึกทั่วไทย” ของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์และคุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เพื่อชี้แจงกรณีที่ทาง “ศูนย์พิทักษ์สิทธิสวัสดิการข้าราชการบำนาญ” ได้ส่งจดหมายต่อผมในหัวหน้าพรรคก้าวไกลเพื่อแสดงความเป็นกังวลในประเด็นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ผมขอยืนยันในเจตนาที่ดีและความบริสุทธิ์ใจ อันมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
.
1) จะตัดงบประมาณบำนาญข้าราชการหรือไม่?
ตอบ – ไม่ตัด ไม่ลด เงินบำนาญท่านจะไม่ถูกกระทบครับ
.
2) งบ “ช้างป่วย” หมายถึง ข้าราชการบำนาญหรือไม่?
ตอบ – ไม่ใช่ครับ ช้างป่วย หมายถึง “วิธีในการจัดงบประมาณประเทศของรัฐบาล” ที่รวมถึง รายได้ รายจ่าย การกู้ชดเชยขาดดุล ไม่ได้หมายถึงข้าราชการบำนาญ
.
3) งบบุคลากร 40% ของงบประมาณที่มีงบบำนาญ 322,790 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เป็นปัญหา เป็นภาระ ประเทศหรือไม่?
ตอบ – ผมไม่เคยพูดว่า “เป็น” ปัญหา หรือ ภาระ แต่พูดว่า หากหารายได้ เก็บรายได้ไม่ได้สอดคล้องรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จะ “มีปัญหา” รวมถึงสวัสดิการประชาชนหรือแม้แต่สวัสดิการข้าราชการเองในอนาคต (อ้างอิงจาก สำนักงาน กพ.)
.
ในทางกลับกัน ถ้าไม่พูดถึงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยกันแก้ไข รอเวลาค่อยไปพูดอีก 8 ปีข้างหน้า เกรงว่ารัฐบาลจะแก้ไขไม่ทันการ แล้วจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สายเกินแก้ครับ
.
4) มีอคติกับข้าราชการ ไม่เข้าใจ ข้าราชการว่าเสียสละ ทำงานสิบๆ ปี เงินเดือนน้อย ไม่มีโบนัส เหมือนเอกชน
ตอบ – ขอยืนยันในเจตนาและความบริสุทธิ์ใจว่า เคารพประชาชนทุกคนเท่ากัน รวมถึงข้าราชการที่กำลังประสบความท้าทายในวิกฤตสังคมสูงวัยครับ ตัวผมเคยทำงานอยู่กระทรวงพาณิชย์ เงินเดือนหลักพัน พอจะเข้าใจความอัดอั้นของข้าราชการ ไม่มากก็น้อย ในครอบครัวก็มีข้าราชการบำนาญอยู่ด้วย ไม่มีอคติแน่นอน
.
ขอขอบคุณทุกข้อทวงติงและคำแนะนำ ผมรับฟัง และ ต้องขออภัยถ้าทำให้ท่านกังวลใจ แต่อย่างที่เรียนว่า ถึงรู้ว่าเสี่ยงว่าอาจถูกบิดเบือน หรือ เข้าใจผิด ก็คิดว่า ต้องพูดในตอนที่ยังไม่เป็นวิกฤต เพื่อสามารถระดมสมองว่าช่วยกันก่อนที่จะสายเกินแก้ครับ อยากจะช่วยทำให้ชีวิตราชการดีขึ้น ได้ทำงานที่ถนัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประชาชนของเราและ ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันครับ
.
5) แล้วที่เบี้ยบำนาญ ส.ส. และ ผู้ช่วย ส.ส. อีก? ค่าอาหารอีก ?
ตอบ – มาตรา 11 ที่กำลังเป็นที่แพร่หลายแชร์กันอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นข้อความที่ถูกตัดมาจากบันทึกหลักการและเหตุผลร่าง พรฎ. เมื่อปี 2548 ซึ่งไม่เคยมีการประกาศใช้ ส.ส. ไม่ได้มีบำนาญตาม ตามที่แชร์กัน  และในรัฐธรรมนูญปัจจุบันบำเหน็จและบำนาญของ ส.ส. ไม่สามารถกำหนดได้ด้วยพระราชกฤษฎีกาเหมือนในปี 2540
.
ส.ส. ได้เงินทุนเลี้ยงชีพจาก พ.ร.บ. กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยเก็บเงิน ส.ส. 3,500 บาทต่อเดือน ให้ตามอายุงาน และมีจำกัด ไม่ใช่เบี้ยตลอดไป อย่างที่เข้าใจกัน เป็นกองทุนที่ได้งบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลในงบประมาณประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 157 ล้านบาท ให้ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา 1,171 คน
.
ผู้ช่วย ส.ส. ไม่มีบำเหน็จบำนาญ ไม่ว่าจะโดย พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ พ.ร.บ. กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา
.
ค่าอาหารของ ส.ส  – ส.ส. เท่าพิภพของพรรคก้าวไกลได้อภิปรายในสภาหลายครั้งเพื่อตัดงบประมาณค่าอาหารของ ส.ส.
.
เรื่องสโมสร ส.ส – ส.ส. ปดิพัทธ์ของพรรคก้าวไกลแถลงข่าวไปเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐสภาทบทวนความเหมาะสมของการสร้างสโมสรสันทนาการรัฐสภา
.
สุดท้ายนี้ ผมจะเขียนจดหมายตอบคำถามที่ทาง คุณศรศักดิ์ อ้วนล้วน ได้เขียนถามมา หวังว่าจะตอบคำถามท่านได้ชัดเจนและเข้าใจกันมากขึ้น เผื่อท่านจะกรุณาช่วยชี้แจงให้ข้าราชการบำนาญทั่วประเทศอย่างที่ท่านเสนอมาได้ จักขอบพระคุณยิ่งครับ
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #พิธาลิ้มเจริญรัตน์​ #ก้าวไกล #บำนาญ #งบประมาณ66