ย้อนรอย’รถคันแรก’นโยบายประชานิยมสุดฟีเวอร์!!กระเทือนตลาดรถยนต์-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

0
381

“โครงการรถคันแรก”เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาล”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เรียกความนิยมจากประชาชนได้มากที่สุด เกิดขึ้นในปี 2554 มาถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 10 ปี มาย้อนรอยนโยบายประชานิยมอันโด่งดังนี้ในอดีต โดย”นโบายรถคันแรก”มีเป้าหมายเพื่อการกระตุ้นกำลังการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค หลังเศรษฐกิจชะลอตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง จึงจะเป็นโอกาสสำคัญของคนไทยที่จะได้เป็นเจ้าของรถคันแรกในราคาที่ถูกลง จากการคืนภาษีสูดสุดถึง 1 แสนบาท จนทำให้มีประชาชนแห่ใช้สิทธิ์ซื้อรถจำนวนมาก
.
สำหรับนโยบายคืนภาษีรถคันแรก มีเงื่อนไขดังนี้ ผู้ซื้อต้องอายุ 21 ปีขึ้นไป ผู้ซื้อจะต้องไม่เคยซื้อรถยนต์มาก่อน ระยะเวลา จะต้องซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 – 31 ธันวาคม 2555 ราคารถยนต์นั้นจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท รถยนต์ต้องมีเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี (สำหรับรถกระบะจะไม่จำกัด ซีซี) และต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นรถใหม่ป้ายแดง และข้อสุดท้าย ห้ามโอนเปลี่ยนมือใน 5 ปี ยกเว้นกรณีรถถูกยึดเนื่องจากไม่ได้ผ่อนต่อไฟแนนซ์สามารถเปลี่ยนมือได้
.
อีกทั้งกรณีผู้ซื้อรถไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ จะถูกเรียกเงินภาษีจากรัฐคืนกลับให้กรมสรรพสามิตเท่ากับจำนวนที่ได้รับไป ซึ่งต่อมามีหลายราย นำเงินที่ได้รับคืนภาษีไปใช้หมดแล้ว จึงต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายเงินคืนกรมสรรพสามิต ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย ส่วนเจ้าของรถที่กัดฟันผ่อนรถต่อไป ก็ไม่สามารถขายเปลี่ยนมือได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขห้ามซื้อขายเปลี่ยนภายใน 5 ปีนับจากวันรับรถ
.
ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุขณะนั้นว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตเปิดให้ประชาชนมายื่นใช้สิทธิ์คืนภาษีตามนโยบายรถยนต์คันแรกว่า “จากการปิดรับการยื่นเอกสารขอคืนภาษีรถคันแรกของกรมสรรพสามิตทุกจุดให้บริการเวลา 16.30 น. มีประชาชนมาขอใช้สิทธิ์ 1,255,942 คัน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืน 91,061 ล้านบาท โดยผู้มีสิทธิ์จะต้องส่งสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน
.
จากนั้นในปีงบประมาณ 2555 (1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2555 ) ได้รับการจัดสรรงบ จากรัฐบาล 7,500 ล้านบาท กรมสรรพสามิตได้คืนภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองรถครบ 1 ปี ประมาณ 40,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท ยังมีงบฯ เหลืออีก 4,500 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2555-30 กันยายน 2556) ได้รับการจัดสรรงบ 18,000 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ กรมสรรพสามิตต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังของบกลางอีก 20,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 (1 ตุลาคม 2556-30 กันยายน 2557) ต้องจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลอีก 30,000-40,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2558 อีกจำนวนหนึ่ง
.
จากนโยบายรถคันแรกที่เกิดกระแสฟีเวอร์ไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ชาวบ้าน พนักงานโรงงานก็ใช้สิทธิ์ซื้อรถโดยขาดความยั้งคิดว่า จะมีรายได้ผ่อนส่งค่างวดในแต่ละเดือนเพียงพอหรือไม่ ส่วนหนึ่งคิดแต่ว่า จะได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท บางคนผ่อนได้เพียง 3-4 งวดก็ส่งต่อไม่ไหว ปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถคืน โดยไม่ได้คำนึงว่า ยังมีภาระหนี้อีกมากมายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาระดอกเบี้ย ภาระหนี้ส่วนเกิน
.
อีกทั้งกรณีผู้ซื้อรถไปแล้วแต่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ จะถูกเรียกเงินภาษีจากรัฐคืนกลับให้กรมสรรพสามิตเท่ากับจำนวนที่ได้รับไป ซึ่งหลายราย นำเงินที่ได้รับคืนภาษีไปใช้หมดแล้ว จึงต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายเงินคืนกรมสรรพสามิต ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย ส่วนเจ้าของรถที่กัดฟันผ่อนรถต่อไป ก็ไม่สามารถขายเปลี่ยนมือได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขห้ามซื้อขายเปลี่ยนภายใน 5 ปีนับจากวันรับรถ
.
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวสรุปผลจากนโยบายรถคันแรกได้อย่างน่าสนใจว่า โครงการรถคันแรก มีผลดีตรงที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตปี 2556 ขยับขึ้นเป็นปีละกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก สำหรับผลเสียนั้น ก่อให้เกิดหนี้ครอบครัว จากการเช่าซื้อรถยนต์ถึง 80 % ของจีดีพี มีการเช่าซื้อรถยนต์สูงเกินล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคหดตัวลงทุกประเภทสินค้า
.
อย่างไรก็ตาม นโยบายรถคันแรก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 คาดการณ์ว่า ผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกจำนวนหนึ่ง จะเริ่มขายรถคันเดิมได้ในช่วงกลางปี 2560 และซื้อรถคันใหม่ที่มีเทคโนโลยีมากกว่าเดิม ทำให้ค่ายรถทุกรายจึงเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆเพื่อมากระตุ้นกำลังการซื้ออย่างแน่นอน
.
ขณะที่นายภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการโครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา  (Thai PBO)สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังของนโยบายรถยนต์ใหม่คันแรก ว่า นโยบายดังกล่าวแม้ได้รับความนิยมจากคนไทยมาก เห็นได้จากยอดผู้ร่วมโครงการสูงถึง 1.25 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อรายรับรายจ่ายงบประมาณของรัฐบาลค่อนข้างสูง
.
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2555 จนส่งมอบต่อเนื่องในปี2556 พบว่า มีรถยนต์จดทะเบียนใหม่สูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ลดลงถึง 36% ในปีงบประมาณ 2557 และคาดว่าจะทำให้ภาษีสรรพสามิตลดลงราว 7,000 ล้านบาทด้วย และลดลงอีก 7,000 ล้านบาทต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2558 นอกจากนี้ ผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรกที่มีต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ยังขัดกับตัวเลขในเอกสารงบประมาณของรัฐบาลที่คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ภาษีสรรพสามิตเพิ่ม 7.2% แต่ไทยพีบีโอคาดว่าภาษีจะเพิ่มเพียงแค่ 3.5%
.
ขณะเดียวกัน โครงการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรก จะขาดทุนสุทธิราว 2.8 หมื่นล้านบาทเนื่องจากกรมสรรพสามิตจะมีรายได้จากการเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นสุทธิเพียง 5.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมีรายจ่ายที่ต้องตั้งงบคืนภาษีประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท โดยไทยพีบีโอประเมินต้นทุนสุทธิของโครงการนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทหรืออาจจะต่ำกว่านั้นหลังจากหักผลกระทบต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไปแล้ว
.
ทั้งนี้ดังจะสรุปได้ว่าแท้จริงแล้ว นโยบายรถคันแรกเป็นโครงการประชานิยมที่ทำให้บิดเบือนกำลังซื้อในตลาดรถยนต์ ในขณะที่ผู้บริโภคต่างเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนจากการเช่าซื้อรถเพิ่มขึ้น
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #รถคันแรก #นโยบายประชานิยม