วันนี้(7 ก.ค.) พรรคสร้างอนาคตไทย ออกแถลงการณ์มาตรการรับมือกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดระบุว่า ด้วยสถานการณ์ของโควิด 19 ขณะนี้ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังจากผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในการนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่าได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต
.
พรรคสร้างอนาคตไทยมีความห่วงใยต่อความเสี่ยงและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อสังคม และประเทศในภาพกว้าง จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปดังต่อไปนี้
1)สถานการณ์ของโควิด 19 ที่แย่ลง ไม่ได้มีเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้นที่สูงขึ้น แต่พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย หรือเคยได้รับวัคซีนแต่ไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณทั้งหมด 12.7 ล้านคน มีอัตราการรับวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น
.
ในขณะที่อัตราการรับเข็มแรก ร้อยละ 84.5 และเข็มที่สอง ร้อยละ 80.5 นั่นหมายความว่ายังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเฉพาะที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยอีกประมาณ 2 ล้านคน และ 6.7 ล้านคนไม่เคยได้รับหรือรับไม่ครบตามคำแนะนำ ซึ่งทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงของโรคโควิด 19 เช่นกัน กอปรกับคาดว่าภูมิคุ้มกันหมู่หรือภูมิคุ้มกันชุมชนจากการฉีดวัคซีนโรคโควิด 19 มีประสิทธิผลน้อยในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จึงยังทำให้ผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบยังมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิต
2)การให้วัคซีนเป็นมาตรการสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด 19 แต่กลับพบว่าการได้รับวัคซีนของประชาชนยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นนัก ทั้งที่ได้รณรงค์และให้ความสำคัญตลอดมา สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรยกระดับการรณรงค์และการติดตามผลการให้วัคซีนอย่างจริงจัง และเน้นการใช้มาตรการเชิงคุณภาพทางด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารให้มากยิ่งขึ้น เพราะการยอมรับวัคซีนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และความเชื่อต่าง ๆ ดังนั้น การรณรงค์หรือการให้คำแนะนำที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ
3)เพื่อให้การติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดจนการออกมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ พรรคจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนจำแนกตามกลุ่มต่าง ๆ ให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มอายุ และกลุ่มโรคเสี่ยงต่าง ๆ โดยควรลงลึกแสดงเป็นรายจังหวัดและพื้นที่ย่อย เพราะจากการลงพื้นที่ของพรรคฯ ทำให้เชื่อได้ว่าการได้รับวัคซีนมีความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ แม้เป็นกลุ่มอายุหรือกลุ่มเสี่ยงประเภทเดียวกันก็ตาม ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้การมุ่งเน้นและการรณรงค์ตามพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างเหมาะสม
4) กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรค หรือการใช้ยารักษาซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะการใช้มาตรการที่เป็นเพียงแนวคิดเชิงทฤษฎี ระดับบุคคล ไม่มีข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติในภาพกว้างที่ชัดเจน เช่น การส่งเสริมให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน หรือการรับวัคซีนเข็มที่ 4 แทนที่จะมุ่งทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการรณรงค์กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับหรือยังรับวัคซีนไม่ครบเป็นหลัก เพื่อผลในการควบคุมป้องกันโรคที่สูงกว่า
.
การลดจำนวนวันในกระบวนการรักษาเป็น 5+5 วัน โดย 5 วันหลัง เป็นการสังเกตอาการ และสามารถออกไปข้างนอกได้ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลผลกระทบเชิงสาธารณสุขที่ชัดเจนต่อการแพร่เชื้อของผู้ป่วย การใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์เพื่อการรักษา ทั้งที่ผลการศึกษาในประเทศและนานาชาติพบว่ายานี้ไม่ได้ช่วยลดจำนวนไวรัส และประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศผู้ผลิตได้เลิกใช้ยานี้แล้ว เป็นต้น
.