‘สาธิต’จับตาปราการด่านสุดท้าย!!ชี้ชะตากฎหมายลูกเลือกตั้ง รับเสียดายสภาล่ม ฝากกกต.นำเนื้อหาทันสมัยไปปฏิบัติ

0
207

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ระบุว่า จากการพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านมาเมื่อเช้า (15 ส.ค.) เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ ตอนเปิดประชุม 364คนครบ แต่พอถึงเวลาแสดงตน กลับหาย…
.
นายสาธิต ระบุว่า แม้สมาชิกปชป.จะนั่งกันเกือบครบ ก็ไม่สามารถทำให้องค์ประชุมพอที่จะลงมติได้ เพราะสมาชิกจากพรรค พรปช. และ พท. ไม่มากันเยอะ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม และองค์ประชุมล่มไปในที่สุด เมื่อไม่สามารถพิจารณาร่างได้เสร็จทันตามกรอบเวลา 180วัน จึงทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างฯที่รัฐสภาใช้เป็นร่างฯหลักในวาระแรกแทน ซึ่งก็คือบัตร2ใบ หาร100 เท่ากับว่าข้อกฎหมายใหม่ในร่างฯที่จะพิจารณา จะถูกยุติไปด้วย และกลับไปใช้ฉบับเดิม
.
“ในฐานะประธาน กมธ. ยอมรับว่ารู้สึกเสียดาย ที่ร่างกฎหมายไม่ผ่านการพิจารณา เพราะในร่างฯใหม่ มีการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อให้ทันสมัย ก้าวหน้า เพิ่มการรับรู้ของประชาชน เพื่อความโปร่งใส เช่น การรายงานข้อมูลระบบออนไลน์ หลังจากเลือกตั้งแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ และตรวจสอบได้ ภายใน 48ชั่วโมง และกการให้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกฝ่าย สามารถเก็บภาพ หรือวิดีโอ ภายในหน่วยเลือกตั้ง หรือผลคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และยุติธรรม”นายสาธิต กล่าว
.
นายสาธิต ระบุว่า การที่สภาล่ม แล้วกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิม ทำให้ข้อกฎหมายที่ถูกแก้ไขนั้นหายไปด้วย อย่างไรก็ดี คงต้องฝากความหวังไว้ที่ กกต. ในขั้นตอนการพิจารณา ถ้าภายใน 10วัน กกต.ไม่มีความเห็นอะไรมา ถือว่าจบ ใช้ฉบับนี้แน่นอน แต่หาก กกต.เห็นต่าง รัฐสภาจะมีเวลาอีก 30วัน ในการทบทวนร่างกฎหมาย จากนั้นถึงนำขึ้นทูลเกล้า ซึ่งต้องรออีก 5วัน ในช่วงเวลานี้ สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อกัน เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกครั้ง เป็นปราการด่านสุดท้าย สู่การพลิกกลับมาใช้ร่างฯกฎหมายฉบับใหม่ที่ กมธ.ฯแก้ไข
.
นายสาธิต ระบุอีกว่า สุดท้ายนี้ อยากขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมกันร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ขึ้น แม้ว่าจะไม่ผ่านการพิจารณา แต่ก็ไม่อยากให้ความตั้งใจ 180วันที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า อยากฝาก กกต. ว่า สิ่งไหนที่สามารถทำได้ ปฏิบัติได้ เช่น การรายงานข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ หรือการอำนวยความสะดวกประชาชนให้ทุกฝ่ายรับรู้รับทราบ อาจจะเกินข้อกฎหมายไป ไม่ได้ผ่านไปกับกฎหมายร่างเดิม เพราะอยู่ในร่างฯใหม่ที่ กมธ.ฯแก้ไข ถ้าในทางปฎิบัติ สามารถทำได้ เพื่อความโปร่งใส และทันสมัยของการเลือกตั้ง
.
“อยากจะให้ทาง กกต. พิจารณาดำเนินการ เพื่อนำใช้หลักเกณฑ์ ที่ กมธฯ.ทุกคน ตั้งใจเพื่อประโยชน์ของการเลือกตั้ง เพื่อความโปร่งใส เพื่อความทันสมัย และเพื่อประชาชน การเลือกตั้ง ต้องโปร่งใส ทันสมัย ตรวจสอบได้ และเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน”นายสาธิต กล่าว
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #สาธิตปิตุเตชะ #กฎหมายลูก #กฎหมายเลือกตั้ง #สภาล่ม