เปิดหลักกฎหมาย ไขข้อข้องใจ!!ป้ายหาเสียง’ชัชชาติ’ผิดฐานซื้อเสียงหรือไม่??

0
322

นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ(ทนายบอน) นายทะเบียนพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ป้ายหาเสียงคุณชัชชาติ ผิดฐานซื้อเสียงหรือไม่? ตอบกันตามหลักกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับ 1,300,000 คะแนน พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 65 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
.
(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด”
.
ตามตัวบทดังกล่าวสรุปง่ายๆ ว่ากฎหมายเลือกตั้งห้าม [ซื้อเสียง] การซื้อเสียงนั้นห้ามทั้ง [ซื้อด้วยเงิน] หรือ [ซื้อด้วยทรัพย์สินที่ตีเป็นมูลค่าได้] ถามว่าป้ายหาเสียง มีมูลค่าไหม ตอบได้เลยว่ามี อาจจะ 100 – 200 บาท และป้ายหาเสียงนั้น ก็มีขึ้นเพื่อจูงใจให้คนไปลงคะแนนให้ ถ้าซื้อเสียงด้วยเงิน 100 หรือ 200 บาท ผิดแน่ แล้วป้ายหาเสียงล่ะ จะผิดไหม?
.
เวลาเดินไปแจก [แผ่นพับ] ความจริงแผ่นพับก็ตีเป็นเงินได้ แต่ไม่ผิด ไม่ผิดเพราะเราไม่ได้จูงใจด้วยมูลค่าของแผ่นพับ แต่เราจูงใจด้วยข้อมูลหรือนโยบายหรือผลงานที่อยู่ในแผ่นพับ แต่… ถ้าผมยกแผ่นพับ 200 แผ่น ให้ร้านกล้วยแขก แล้วบอกให้เอาไปห่อกล้วย อันนี้ผิดไหม ตอบได้เลยว่า “ผิด” เพราะผมจูงใจด้วยมูลค่าของ “กระดาษ” ที่ให้ไปห่อกล้วย ไม่ได้จูงใจด้วยข้อมูลที่อยู่ในแผ่นพับ
.
ในอดีตที่ผ่านมา กกต. เคยมาชี้แจงเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง บอกห้ามแจก CD เพราะตีเป็นมูลค่าได้ ผมโต้แย้ง ตามหลักการนี้ว่าการแจก CD มันจูงใจด้วยข้อมูลหรือนโยบายใน CD ไม่ใช่มูลค่าของ CD สุดท้ายการแจก CD ก็ไม่ผิด
.
กลับมาเรื่อง [ป้ายคุณชัชชาติ] ว่ากันตามตรงผมคิดว่าเค้ามีเจตนา [ขายไอเดีย] และความเป็นตัวตนว่าเป็นคนรักสิ่งแวดล้อม และเห็นความสำคัญของการนำกลับมาใช้ซ้ำมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านั้น คือ [ข้อมูล] ที่ปรากฏในแผ่นป้าย และคนที่เลือกคุณชัชชาติ ก็เพราะนโยบาย เพราะความคิดสร้างสรรค์ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายหาเสียง ไม่ใช่เพราะมูลค่าของแผ่นป้ายนั้นๆ กรณีแผ่นป้ายของคุณชัชชาติ ผมจึงคิดว่าไม่ผิดฐานซื้อเสียง
.
อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมในฐานะ [นักกฎหมาย] คนหนึ่งครับ ผมยืนยันว่าการใช้การตีความกฎหมายนอกจากจะต้องดูถ้อยคำตามตัวบทแล้วยังจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ทางกฎหมายด้วยครับ แต่สิ่งที่ห้ามเอามาคิดในการวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยเด็ดขาด คือ [คะแนนนิยม] ครับ ไม่ว่าคะแนนนิยมมากหรือน้อยเพียงใด ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก มิเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากคำว่า [กฏหมู่จะอยู่เหนือกฎหมาย]
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #ณัฐนันท์กัลยาศิริ #ทนายบอน #ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่ากทม